(คลิป) สทนช.ควงจีนลงพื้นที่น้ำท่วมใหญ่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ชง “กองทุนฯ แม่โขง-ล้านช้าง” แก้ปัญหาแม่น้ำข้ามพรมแดน
เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 08:41:58
• เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่แม่สายและท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงราย
• เลขาธิการ สทนช. รองผู้ว่าฯ เชียงราย และ กอ.รมน.เชียงราย นำตัวแทน สปป.จีนลงพื้นที่หารือแก้ปัญหา
• เสนอให้กองทุนแม่โขง-ล้านช้าง จัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแม่น้ำข้ามพรมแดน
• เร่งดำเนินการขุดลอกแม่น้ำสาย
เชียงราย - เลขาฯ สทนช.พร้อมรองผู้ว่าฯ-กอ.รมน.เชียงราย นำตัวแทน สป.จีนลงพื้นที่หารือแนวทางวิกฤตน้ำท่วมใหญ่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ชงกองทุนฯแม่โขง-ล้านช้างจัดงบแก้ปัญหาแม่น้ำข้ามพรมแดน พร้อมเผยเร่งแผนขุดลอกน้ำสายเดินหน้า หวังให้เสร็จทันก่อนเข้าฝนปี 68
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.จว.เชียงราย นายอภิศักดิ์ สวัสดิรักษ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำคณะผู้แทนจาก สป.จีนเดินทางไปยังชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 เชื่อมกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา สุดสัปดาห์นี้
เพื่อชี้ให้เห็นถึงสาเหตุน้ำท่วมชายแดนบริเวณดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือน ก.ย.-ต.ค. 2567 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งสองฝั่งประเทศ รวมทั้งร่วมหารือ "โครงการเสริมสร้างการปรับตัวชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ที่ จ.เชียงราย" ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ปี 2568 นำมาแก้ปัญหาแม่น้ำข้ามพรมแดน (แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก) อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังเตรียมการเพื่อทำพนังกั้นน้ำ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อรองรับกรณีมีมวลน้ำมาก ขุดลอกแม่น้ำสาย ฯลฯ และหลังจากเสร็จภารกิจกับคณะตัวแทนจากประเทศจีนแล้ว วันนี้ (17 พ.ย.) ทาง สทนช.จะร่วมกับกรมทหารช่างวางแผนการขุดลอก โดยตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จจฝก่อนเดือน พ.ค. 2568 หรือก่อนฤดูฝนปีหน้าด้วย
ดร.สุรสีห์กล่าวว่า แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก เป็นเส้นกั้นชายแดนธรรมชาติ เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ได้รับผลกระทบกันทั้งสองฝั่งประเทศ พอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตรอีก ซึ่ง สทนช.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก MLC ให้ทำการวิจัยการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนตั้งแต่ปี 2461
แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงปรับแผนมาดำเนินการในปีนี้ พร้อมขอรับงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2568 เพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนอุทกภัยล่วงหน้าและระบบการสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยข้ามพรมแดน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการตั้งรับและปรับตัวต่อสถานการณ์ด้วย
ดร.สุรสีห์กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ร่วมกันรอบนี้ก็เพื่อดูสภาพพื้นที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่บริเวณมุมสูงของพระธาตุดอยเวา สถานีสูบน้ำดิบแม่สาย สะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 และตลาดสายลมจอย นอกจากนี้ยังไปดูแม่น้ำรวกที่สามเหลี่ยมทองคำและสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน
ก่อนหารือกับทางการจีน ถึงแผนระยะเริ่มแรกซึ่งจะมีการประเมินระบบเตือนภัย ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติระหว่างไทย-เมียนมา-จีน ติดตามด้านอุตุ-อุทกวิทยา แบ่งปันข้อมูล และระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า จากนั้นมีการศึกษาและร่วมกันติดตั้งสถานีตรวจวัดข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา ในบริเวณต้นแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก เพื่อให้ทาง สป.จีนพิจารณาจัดสรรทุนต่อไป
ดร.สุรสีห์กล่าว นอกจากนี้ สทนช.ยังได้ประชุมในระดับภูมิภาคครั้งที่ 2 กับคณะผู้แทนจากประเทศจีนและประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการจากการที่ สทนช.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เมื่อปี 2565 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนด้านน้ำในระดับภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงฯ และโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะด้านน้ำที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบนาข้าวระดับภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงฯ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 67 นี้ด้วย
ที่มา : MgrOnline