มหาดไทย เดินหน้าโค้ชชิ่ง พัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้า - หัตถกรรมไทย
เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 09:02:26
• ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
• มุ่งสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระราชดำริอย่างกว้างขวาง
• เน้นการพัฒนาและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาผ้าและหัตถกรรมไทย
ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมทั้ง พระอัจฉริยภาพและพระกรณียกิจในด้านต่างๆ ที่ล้วนสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทย นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีจากการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย จึงนำแนวทางตามพระดำริในการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มากำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถ ด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า สร้างรายได้ รวมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้ โครงการสร้างการรับรู้และเผยแพร่
พระอัจฉริยภาพทางด้านการยกระดับและพัฒนาภูมิปัญญา ผ้าและงานหัตถกรรมไทย ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเป็นการจัดกิจกรรมการสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า ทายาทและเยาวชนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กว่า 400 ราย จาก 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครพนม และนนทบุรี ซึ่งแต่ละจุดดำเนินการมีผู้เชี่ยวชาญในด้านผ้าไทย งานหัตถกรรม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดลงพื้นที่ร่วมโค้ชชิ่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มกำลัง
นับเป็นการเผยแพร่พระกรณียกิจ พระวิสัยทัศน์ และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี
นารีรัตนราชกัญญา ทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทย ให้กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่างทอผ้า ทายาทและเยาวชนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความสนใจในการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาต่อยอด ภูมิปัญญาด้านผ้าไทย ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหาย ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีให้กับ ช่างทอผ้าและครอบครัวอย่างยั่งยืน
การจัดประชุมเชิงปฎิบัติการในครั้งนี้ ได้ช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาด้านงานผ้า งานหัตถกรรม ที่จะได้เรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านผ้าและหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบงานผ้า จนอาจสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ดีที่สุดในชีวิต รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากร และโครงการนี้มุ่งมั่นที่จะช่วยกันรักษาชาติไทยให้คงความเป็นชาติ เพราะมีวัฒนธรรมไทย มีหัตถกรรมไทย และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ให้คงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยไปตราบนานเท่านาน
ที่มา : MgrOnline