“สมศักดิ์” ส่งร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ให้เลาขาฯ ครม.เตรียมนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาเห็นชอบ
เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 00:20:49
• ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบโดยด่วน
• จากนั้นจะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
• สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
“สมศักดิ์” เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ต่อเลขา ครม.แล้วเพื่อนำเข้าที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบโดยด่วน ก่อนเสนอเข้าสู่สภาต่อไป เผยเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและควบคุมผลกระทบทางสังคมโดยการตรากฎหมาย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กัญชา กัญชง พ.ศ. ... เพื่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ตามหนังสือที่ สธ 0512/4632 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567
หนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงเหตุผลและความจําเป็นที่ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ต่อ ครม.ว่า เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ว่า “จะ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรม รวมถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจและควบคุมผลกระทบทางสังคม โดยการตรากฎหมาย” กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้นําเสนอ ครม.โดยด่วน
หนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ทำให้พืชกัญชาไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป แต่เนื่องจากพืชกัญชามีสาร THC ซึ่งเป็นสารเสพติดโดยสภาพ หากนําไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมอาจทําให้ผู้บริโภคเสพติดกัญชาได้โดยความรู้เท่าไม่ถึงการ จึงจําเป็นต้องมีการควบคุมเพื่อให้มีการใช้อย่างเหมาะสม และป้องกันบุคคลกลุ่มเปราะบางไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชาในลักษณะดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อไม่มีกฎหมายที่ใช้ควบคุมพืชกัญชาเป็นการเฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข จึงอาศัย อํานาจตามกฎหมายที่อยู่ในการกํากับดูแลของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อควบคุมการใช้ กัญชาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของ การจําหน่ายอาหารประเภทปรุงสําเร็จในสถานที่จําหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 และประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดให้การกระทําให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุ รําคาญ พ.ศ. 2565 ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวพบว่ามีข้อจํากัดในการบังคับใช้ เนื่องจาก การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายแต่ละฉบับดังที่ได้กล่าวมานั้น ไม่อาจก้าวล่วงอํานาจตามกฎหมายที่ตนเองถืออยู่ได้ ทําให้ขาดความต่อเนื่องและไม่สามารถระงับเหตุได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเพียงฉบับเดียว และต้องใช้กําลังเจ้าหน้าที่จากหลายส่วนรวมกัน
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้มี คําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... เพื่อจัดทําร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 และสอดคล้องกับคําแถลงนโยบายรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา
โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฯ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายของสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 รวม 15 วัน โดยผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
สำหรับสาระสําคัญของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….มีเนื้อหารวมทั้งสิ้น 77 มาตรา แบ่งออกเป็น 10 หมวด โดยมีสาระสําคัญ ดังนี้
บทบัญญัติทั่วไป มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดชื่อร่าง พ.ร.บ. กําหนดวันใช้บังคับกฎหมายตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กําหนดบทนิยาม และกําหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้
หมวด 1 บททั่วไป มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดให้การยื่นคําขอ การอนุญาต การออก ใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การสั่งการ และการแจ้ง รวมตลอดทั้งการออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม ตาม พ.ร.บ.นี้สามารถดําเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่รัฐมนตรีกําหนดได้ และกําหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุ ใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต
หมวด 2 คณะกรรมการกัญชา กัญชง มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดให้มีคณะกรรมการกัญชา กัญชง เพื่อทําหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการควบคุมและส่งเสริมกัญชา กัญชง และ สารสกัด รวมถึงการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน กําหนดมาตรการการส่งเสริม วิจัย พัฒนา การใช้กัญชา กัญชง และสารสกัด ทั้งในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และประโยชน์อื่น ๆ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ
หมวด 3 การขออนุญาตและการอนุญาต มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดมาตรการควบคุมและใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง หรือสารสกัด เช่น การขออนุญาตและการอนุญาตเพาะปลูกกัญชา หรือกัญชง หรือผลิต นําเข้า ส่งออก หรือขายกัญชา กัญชง หรือสารสกัด กําหนดแบ่งขนาดพื้นที่เพาะปลูก และกําหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้งที่นําเข้าหรือส่งออก
หมวด 4 หน้าที่ของผู้รับอนุญาต มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดหน้าที่ให้ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติ โดยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด
หมวด 5 การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการเลิกกิจการ มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพักใช้ใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต รวมถึงกําหนดวิธีปฏิบัติกรณีผู้รับอนุญาตประสงค์จะเลิกกิจการ
หมวด 6 การโฆษณา มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดข้อห้ามเรื่องการโฆษณาหรือ การสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับช่อดอกหรือยางของกัญชา หรือช่อดอกหรือยางของกัญชง หรือสารสกัด หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา รวมถึงการระงับการโฆษณาในกรณีที่มีการฝ่าฝืน
หมวด 7 การอุทธรณ์ มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการ อุทธรณ์และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ในกรณีที่ผู้อนุญาตไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.นี้
หมวด 8 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดมาตรการการคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัด และการป้องกันการใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัดในทางที่ผิด
หมวด 9 พนักงานเจ้าหน้าที่ มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดหน้าที่และอํานาจของ พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ เช่น ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใด ๆ เพื่อตรวจ ค้น ยึด หรืออายัดกัญชา กัญชง สารสกัด อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนภาชนะบรรจุหีบห่อ ฉลาก หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับกัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบดังกล่าว ซึ่งสงสัยหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด
หมวด 10 บทกําหนดโทษ มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดบทลงโทษทางอาญา สําหรับผู้กระทําความผิดตาม พ.ร.บ.นี้
และบทเฉพาะกาล มีสาระสําคัญ คือ การกําหนดบทเฉพาะกาลในเรื่องต่าง ๆ เพื่อรองรับ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และรองรับสิทธิของบุคคลที่ได้รับมาโดยผลของกฎหมายเดิม อาทิเช่น การกําหนด บทเฉพาะกาลเพื่อรองรับกฎหมายลําดับรองตามกฎหมายเดิม การกําหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับคําร้อง หรือคําขอที่ได้ยื่นไว้ตามกฎหมายเดิม และการกําหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับใบอนุญาตที่ออกให้ตาม กฎหมายเดิม เป็นต้น
รายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …
รายละเอียด เอกสารประกอบการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …
ที่มา : MgrOnline