ตัวชี้ชะตาอนาคตของยูเครน! ‘ทรัมป์’จะเอายังไงกับคำของบประมาณช่วยเคียฟเพิ่มของ‘ไบเดน’?

เผยแพร่ : 16 พ.ย. 2567 18:51:13
X
• คณะบริหารของโจ ไบเดน ยังไม่ได้ระบุจำนวนเงินช่วยเหลือยูเครนที่ต้องการให้รัฐสภาอนุมัติ
• สถานการณ์ของคณะบริหารฯ ถูกเปรียบเทียบว่าอยู่ในสภาพ “เป็ดง่อย” (หมายถึงสถานการณ์ที่อ่อนแอและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด) เนื่องจากยังไม่ชี้แจงเรื่องงบประมาณช่วยเหลือยูเครนอย่างชัดเจน
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ซ้าย) เซ็นชื่อลงบนลูกกระสุนปืนใหญ่ ระหว่างเดินทางไปเยือนโรงงานเครื่องกระสุนกองทัพบกสหรัฐฯสแครนตัน (Scranton US Army Ammunition Plant) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองสแครนตัน รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ภาพเผยแพร่โดยสำนักงานบริการสื่อมวลชนของทำเนียบประธานาธิบดียูเครน)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Biden funding request will tell the tale for Ukraine’s future
by Stephen Bryen
13/11/2024

คณะบริหารของ โจ ไบเดน ซึ่งอยู่ในสภาพ “เป็ดง่อย” ยังไม่ได้ระบุชัดเจนออกมาว่าต้องการให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณช่วยยูเครนเพิ่มเติมเป็นจำนวนเท่าใด

จากการแถลงของ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ) ซึ่งเป็นผู้นำของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทาง ไบเดน กำลังจะร้องขอรัฐสภาสหรัฐฯอนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับช่วยเหลือยูเครน ชะตากรรมของคำขอดังกล่าวนี้ ถ้าหากถูกยื่นเสนอออกมาจริงๆ น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงอนาคตของยูเครนได้ทีเดียว

จวบจนถึงเวลานี้ ไม่ว่าทำเนียบขาวหรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต่างยังไม่ได้ให้ข้อมูลว่าเงินช่วยยูเครนที่จะยื่นขอนี้มีตัวเลขจริงๆ เท่าใดกันแน่

ไบเดนและพวกที่ปรึกษาของเขาวาดหวังว่า พวกเขาจะสามารถออกแรงผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยยูเครนให้ผ่านรัฐสภาที่ยังคงเป็นเพื่อนมิตรกับพวกเขาได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี มันไม่มีความแน่นอนอะไรเอาเลยว่าไบเดนจะทำอย่างที่ว่ามานี้ได้

ถ้าหากร่างกฎหมายนี้ถูกยื่นเสนอ แล้วก็ถูกรัฐสภาปฏิเสธ หรือเพียงแต่รัฐสภาเฉยๆ ไม่เดินหน้าลงมติอะไร ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในยูเครน ก็จะต้องเผชิญกับทางเลือก 3 ทางซึ่งเป็นเป็นการเลือกที่ยากลำบากทั้งนั้น ได้แก่ ยอมเจรจากับฝ่ายรัสเซีย, เดินมุ่งหน้าสู่หายนะอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่, หรือ ลาออกจากตำแหน่ง

รัฐสภาสหรัฐฯชุดปัจจุบัน เท่าที่ผ่านมามีท่าทีค่อนข้างเป็นมิตรกับเรื่องการให้ความสนับสนุนยูเครน โดยร่างกฎหมายทั้งหลายก่อนหน้านี้ต่างสามารถผ่านทั้งสภาสูง ซึ่งอยู่ในความควบคุมของพรรคเดโมแครต และสภาล่างที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทว่ามันกำลังจะถูกแทนที่ด้วยรัฐสภาชุดใหม่ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ โดยอย่างน้อยที่สุด 1 สภา และบางทีอาจจะทั้ง 2 สภาด้วยซ้ำ จะอยู่ใต้การควบคุมของพรรครีพับลิกัน (หมายเหตุผู้แปล – ขณะนี้ พวกสื่อใหญ่สหรัฐฯ ทยอยออกมาคาดการณ์กันแล้วว่า การนับคะแนนจนถึงเวลานี้ชี้ชัดได้แล้วว่า รีพับลิกันชนะได้ที่นั่ง ส.ส. เพียงพอที่จะครองสภาผู้แทนราษฎรด้วย หลังจากพวกเขาได้พากันรับรองก่อนหน้านี้แล้วว่า พรรคนี้ชนะได้ ส.ว. เกินกว่าครึ่งหนึ่งของวุฒิสภา จึงหมายความว่าตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า พรรครีพับลิกันจะเป็นผู้กุมอำนาจในทั้ง 2 สภา)

ประเด็นซึ่งจะมีผลสำคัญสำหรับการชี้ขาดเรื่องนี้ก็คือว่า ทรัมป์จะสนับสนุนหรือไม่ กระทั่งตั้งแต่ก่อนที่เขาจะสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2025 ด้วยซ้ำ ทั้งนี้หากทรัมป์คัดค้านการให้ความช่วยหลือยูเครนต่อไปอีก ซึ่งมีความเป็นไปได้เป็นอย่างยิ่งทีเดียว เขาก็อาจเรียกร้องให้พวก ส.ส.รีพับลิกันในสภาล่างชุดปัจจุบันเพียงแค่ไม่เดินหน้าร่างกฎหมายใหม่นี้เท่านั้น โดยเตะถ่วงไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาจนกระทั่งถึงเวลาที่คณะบริหารของทรัมป์เองจะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ผมเขียนข้อเขียนชิ้นนี้อยู่นี้ งบประมาณสำหรับใช้สนับสนุนยูเครนที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาไปแล้วยังคงเหลืออยู่ราวๆ 3,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ไบเดนได้ร้องของบประมาณฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนยูเครนเพิ่มเติมเป็นจำนวน 60,000 ล้านดอลลาร์ ร่างกฎหมายในเรื่องนี้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งในแพกเกจ “งบประมาณรายจ่ายเสริม” โดยยังประกอบไปด้วยงบประมาณรายจ่ายสำหรับเรื่องที่รัฐบาลถือว่ามีลำดับความสำคัญสูงเรื่องอื่นๆ เป็นต้นว่า การบรรเทาภัยพิบัติ, ความมั่นคงทางชายแดน, และการใช้จ่ายด้านกลาโหม สำหรับเงินก้อน 60,000 ล้านดอลลาร์เป็นการจัดสรรอย่างเฉพาะเจาะจงให้ใช้เพื่อสนับสนุนทางการทหารและทางมนุษยธรรมแก่ยูเครนต่อไปอีก

ส่วนประกอบสำคัญของงบประมาณส่วนนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ มีดังนี้:
*24, 000 ล้านดอลลาร์เป็นความช่วยเหลือทางการทหาร โดยประกอบด้วยพวกเครื่องกระสุน, ระบบอาวุธต่างๆ (เครื่องบินขับไล่, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ฯลฯ), การฝึกอบรม, และความสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง

*14,000 ล้านดอลลาร์ เป็นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของยูเครนมีเสถียรภาพ และช่วยประคับประคองให้รัฐบาลยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสำคัญและจำเป็นต่างๆ ต่อไปได้

*8,000 ล้านดอลลาร์ เป็นความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมสำหรับช่วยพวกผู้ลี้ภัย, คนที่ต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น, และความช่วยเหลือทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังมี
งบประมาณช่วยเหลือด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน, การบูรณปฏิสังขรณ์ และการเพิ่มพูนยกระดับสมรรถนะทางด้านการป้องกันในระยะยาวของยูเครน

การออกเสียงในสภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในช่วงที่ ไมค์ จอห์นสัน (Mike Johnson) ขึ้นเป็นประธานสภา (จอห์นสัน เข้าครองตำแหน่งนี้ภายหลัง เควิน แมคคาร์ธี Kevin McCarthy แพ้โหวตหลุดจากอำนาจไปในเดือนตุลาคม 2023) ประสบกับการอภิปรายที่ดุเดือดเข้มข้นในเรื่องงบประมาณยูเครน โดยที่เมื่อถึงเดือนมกราคม 2024 แรงคัดค้านจากภายในพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝ่ายต่างๆ ที่มีแนวทางอนุรักษนิยมมากกว่าฝ่ายอื่นๆ มีการผนึกกำลังอย่างแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ รอบๆ จุดมุ่งหมายที่จะให้ยุติหรืออย่างน้อยก็ให้ลดความช่วยเหลือที่สหรัฐฯให้แก่ยูเครน

*ผลการโหวต: สภาล่างลงมติด้วยคะแนน 216 ต่อ 212 อนุมัติแพกเกจงบประมาณช่วยยูเครน 60,000 ล้านดอลลาร์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายงบประมาณเสริมซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางมากกว่าแค่เรื่องช่วยยูเครน

*เสียงคัดค้านของรีพับลิกัน: ส.ส.พรรครีพับลิกันคนสำคัญๆ มากพอดูทีเดียวโหวตคัดค้านแพกเกจความช่วยเหลือนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวก ส.ส.ที่อยู่ในกลุ่ม ฟรีดอม คอคัส (Freedom Caucus) และชาวอนุรักษนิยมอื่นๆ ซึ่งคัดค้านการที่ยังใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศต่อไปอีก พวกเขาโต้แย้งว่าสหรัฐฯควรเน้นหนักให้แก่เรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ภายในประเทศ เป็นต้นว่า ความมั่นคงทางชายแดน, ภาวะเงินเฟ้อ, และการลดหนี้สินภาคสาธารณะ

*แรงโหวตสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต: พวก ส.ส.เดโมแครตส่วนใหญ่โหวตให้ผ่านแพกเกจนี้ โดยที่เรื่องความช่วยเหลือยูเครนกำลังกลายเป็นประเด็นแกนกลางประเด็นหนึ่งสำหรับพวกเขา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของบรรดาเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูงทางด้านนโยบายการต่างประเทศทั้งหลาย

การโหวตในสภาล่างคราวนั้นแพ้ชนะกันอย่างคู่คี่เฉียดฉิวเอามากๆ ทั้งนี้ในเวลาที่สภาลงคะแนนกันตอนนั้น คณะบริหารไบเดนอ้างว่ายูเครนกำลังเป็นฝ่ายมีชัยในสงคราม ขณะที่มาถึงปัจจุบัน การกล่าวอ้างเช่นนั้นย่อมไม่มีใครฟังอีกต่อไปแล้ว และในประชาคมความมั่นคงแห่งชาติก็กำลังมีทัศนะคล้องจองกันโดยทั่วไปด้วยซ้ำว่า ยูเครนจะต้องเจรจากับมอสโก

การออกเสียงในวุฒิสภา

วุฒิสภา ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเป็นฝ่ายที่แสดงความสนับสนุนความพยายามในการป้องกันของยูเครนมากกว่าสภาผู้แทนราษฎร ผ่านแพกเกจความช่วยเหลือมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ก้อนเดียวกันนี้ในลักษณะที่ได้รับความสนับสนุนจากทั้ง 2 พรรคใหญ่มากกว่าสภาล่าง ถึงแม้ยังคงมี ส.ว.รีพับลิกันบางคนเหมือนกันที่ออกเสียงคัดค้านร่างกฎหมายนี้

*ผลการโหวต: วุฒิสภาออกเสียงด้วยคะแนน 74 ต่อ 22 เสียงเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยแรงสนับสนุนในลักษณะมาจากทั้งสองพรรคนั้น ที่สำคัญแล้วมาจากกลุ่มคอคัสของทางฝั่งพรรคเดโมแครต และชาวพรรครีพับลิกันที่มีแนวคิดสายกลางไม่สุดโต่ง

*เสียงคัดค้านของรีพับลิกัน: ขณะที่ยังคงมีแรงคัดค้านอย่างสำคัญในวุฒิสภา โดยเฉพาะจากพวกรีพับลิกันสายอนุรักษนิยม อย่าง วุฒิสมาชิก แรนด์ พอล (Rand Paul), โจช ฮาวลีย์ (Josh Hawley), และ เจ.ดี. แวนซ์ (J.D. Vance) ซึ่งกำลังกลายเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ส่งเสียงดังฟังชัดคัดค้านการที่สหรัฐฯเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งยูเครน แต่กระนั้น ส.ว.รีพับลิกันเสียงข้างมากก็ยังคงโหวตให้ผ่านแพกเกจนี้อยู่ดี

*เจ.ดี. แวนซ์ เวลานี้กลายเป็นว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้ว

*แรงโหวตสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต: พวก ส.ว.เดโมแครตส่วนใหญ่ที่สุดโหวตเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ สอดคล้องกับการที่พวกเขาให้ความสนับสนุนยูเครนอยู่แล้ว

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การขอเงินเพิ่มให้แก่ยูเครนครั้งใหม่นี้ จะสามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากพวกรีพับลิกันในวุฒิสภาได้อย่างท่วมท้นตามเดิมหรือไม่ ทรัมป์สามารถที่จะยกเหตุผลโต้แย้งว่าเขาจำเป็นต้องได้เสียงหนุนหลังระดับสูงสุดในเรื่องยูเครน และขอร้องสภาสูงและสภาล่างชะลอการอนุมัติกฎหมายให้งบประมาณเพิ่มเติมใดๆ เอาไว้ก่อนในช่วงเวลานี้

ตามประเพณีปฏิบัติ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินทั้งหลายต้องเริ่มต้นกันที่สภาผู้แทนราษฎรก่อน ถ้าสภาล่างไม่ขยับผลักดันร่างงบประมาณนี้ออกมา สภาสูงก็อาจจะไม่มีการหยิบยกคำขอของ ไบเดน มาพิจารณาเลยก็เป็นได้

ผลพ่วงต่อเนื่อง

ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ในปัจจุบัน คำของบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ยูเครนของประธานาธิบดีไบเดน ไม่น่าที่จะได้รับการอนุมัติ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ในตอนนี้ นอกจากนั้นแล้ว กระทั่งหากเงินทองดังกล่าวสามารถผ่านรัฐสภาและนำออกมาใช้จ่ายได้จริงๆ สหรัฐฯก็อยู่ในสภาพแทบไม่มีอาวุธที่สามารถเจียดออกมาแบ่งปันให้ยูเครนอยู่ดี

อาวุธอะไรก็ตามที่สหรัฐฯมีอยู่นั้น ในบางกรณีมันเป็นสิ่งที่พวกชาติพันธมิตรจำเป็นต้องได้ไป ตัวอย่างเช่น ตอนปลายปี 2020 สหรัฐฯอนุมัติให้ขายขีปนาวุธอะแทคซิมส์ (ATACMS ย่อมาจาก MGM-140 Army Tactical Missile System ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีกองทัพบก เอ็มจีเอ็ม-140) จำนวน 64 หน่วย และ เครื่องยิงของระบบ ไฮมาร์ส เอ็ม 142 (ย่อมาจาก M142 High Mobility Artillery Rocket System ระบบจรวดยิงไกลเคลื่อนไหวได้สูง เอ็ม 142) จำนวน 11 ชุดแก่ไต้หวัน หลังจากมีการปรับเปลี่ยนจัดลำดับความสำคัญด้านการป้องกันของตนกันใหม่ เวลาต่อมาไต้หวันก็เพิ่มการสั่งซื้อของตน โดยออร์เดอร์ ระบบไฮมาร์ส เพิ่มอีก 18 ระบบ และเพิ่มการสั่งซื้อขีปนาวุธอะแทคซิมส์ จาก 64 ชุด เป็น 84 ชุด

เครื่องยิงไฮมาร์ส เดินทางไปถึงไต้หวันในตอนต้นเดือนพฤศจิกายน และขณะเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ การจัดส่งขีปนาวุธ อะแทคซิมส์ สำหรับใช้กับระบบไฮมาร์ส เที่ยวแรกเพิ่งส่งไปถึงไต้หวัน นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศ เป็นต้นว่า เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, และโมร็อกโก ก็ร้องขอ ไฮมาร์ส และ ขีปนาวุธ อะแทคซิมส์ เหมือนกัน ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) และทำเนียบขาวอ้างว่ามีไฮมาร์ส และอะแทมซิมส์ อย่างพอเพียง แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ถ้าเกิดการสู้รบขัดแย้งอย่างจริงจังขึ้นมาที่ไหนสักแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแปซิฟิก ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ไฮมาร์ส และขีปนาวุธอะแทคซิมส์

ทำนองเดียวกัน มันก็เกิดการขาดแคลนพวกระบบต่อสู้อากาศยาน, ขีปนาวุธใช้กับระบบแพทริออต (ระบบขีปนาวุธสกัดกั้นเคลื่อนที่ได้ เอ็มไอเอ็ม 104 แพทริออต MIM-104 Patriot) ตลอดเครื่องกระสุนสำหรับอาวุธหลายหลากขนาด โดยที่จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งหมายถึงเป็นปีๆ กว่าที่จะเติมเต็มสต็อกเครื่องกระสุนและระบบอาวุธเหล่านี้ขึ้นมาได้ใหม่

สหรัฐฯอาจใช้วิธีนำเอาอาวุธของตัวเองที่เก็บไว้ในคลังแสงต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในยุโรปออกมาให้ก่อน ทว่าการทำเช่นนั้นย่อมมีผลเท่ากับการปลดอาวุธกองทหารสหรัฐฯ และทำให้องค์การนาโต้อยู่ในภาวะอ่อนแออย่างอันตรายยิ่ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ทำอะไรแบบนั้น

ลงท้ายแล้ว คำขอของ ไบเดน จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่มันจะเป็นเหมือนการเตะโด่งเข้าแดนเอนด์โซนของฝ่ายตรงข้ามแบบเผื่อฟลุก ในช่วงวินาทีสุดท้ายของเกมฟุตบอลอเมริกัน ก่อนที่เขาจะถูกทรัมป์เข้าแทนที่ในปลายเดือนมกราคม

แน่นอนอยู่แล้วว่า เซเลนสกีย่อมมองเห็นสถานการณ์ที่ความสนับสนุนจากสหรัฐฯซึ่งให้แก่ยูเครน กำลังอยู่ตรงทางแยกสำคัญถึงขั้นเป็นตาย และความพยายามของทางยูเครนที่จะบีบคั้นเรียกร้องเอาอะไรให้มากกว่านี้จากวอชิงตันก็จะไม่ประสบความสำเร็จ สภาวการณ์เช่นนี้เพียงพอที่จะโน้มน้าวเขาให้เกิดความปรารถนาที่จะเจรจากับฝ่ายรัสเซียหรือไม่นั้น เรายังไม่ทราบกัน แต่ในเวลาที่ยูเครนอยู่ตรงขอบเหวของการพังทลาย เซเลนสกีก็อาจจะเลือกเดินเส้นทางการทูต หรือไม่เช่นนั้นเขาก็อาจจะต้องลาออกไป

สตีเฟน ไบรเอน เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ และเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเทคโนโลยีความมั่นคง ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

ที่มา : MgrOnline