“แพทยสภา” เปิดศึก “สปสช.-สภาเภสัชฯ” ศาลรับฟ้องจ่ายยา “บัตรทองรักษาทุกที่” ขัดกม. คำตอบสุดท้าย “ใคร” ได้ “ประโยชน์” กันแน่?

เผยแพร่ : 16 พ.ย. 2567 07:41:49
X
• ความยั่งยืนทางการเงิน: งบประมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การขาดแคลนยาและบุคลากรทางการแพทย์
• การเข้าถึงบริการ: ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการยังคงมีอยู่ บางพื้นที่ขาดแคลนโรงพยาบาลหรือบุคลากร
• คุณภาพการรักษา: ความกังวลเรื่องคุณภาพการรักษาอาจลดลง เนื่องจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นและทรัพยากรที่จำกัด
• การต่อต้าน/แรงเสียดทาน: นโยบายอาจเผชิญแรงต้านจากกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เรียกร้องความเป็นธรรมด้านค่าตอบแทน
โดยสรุป คือ นโยบาย 30 บาทกำลังเผชิญความท้าทายด้านงบประมาณ คุณภาพ และความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่การนำไปปฏิบัติให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้นยากลำบาก

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค รักษาทุกที่ ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกะลุยไปให้สุดทาง กำลังเจอย้อนศร เพราะการให้ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” จ่ายยา 16 อาการโรค และเวลานี้ขยายเพิ่มเป็น 32 กลุ่มอาการโรค แม้ว่าด้านหนึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดการแออัดของโรงพยาบาล แต่ก็ถูกตั้งคำถามในเรื่องความสุ่มเสี่ยง เพราะโรคบางโรค ยาบางตัว ควรให้แพทย์วินิจฉัยก่อนรับยาไหม เพื่อความปลอดภัยของคนป่วย? 

ความวุ่น ๆ บนความเจ็บป่วยไข้ ที่ต่างฝ่ายมีเหตุผล มีความห่วงใย ตอนนี้บานปลายกลายเป็นคดีฟ้องร้องกันในชั้นศาล และอาจลุกลามเป็นศึกศักดิ์ศรีระหว่าง แพทยสภา กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม  ที่ต่างฝ่ายต่างถอยไม่ได้ และการเมืองที่เป็นตัวขับดันหลักก็ถอยไม่ได้ ลุยไปตายเอาดาบหน้าด้วยกัน

ย้อนกลับไปดูต้นสายปลายเหตุกันสักเล็กน้อย เรื่องนี้สืบเนื่องมาจาก สปสช.มีนโยบาย  “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ”  เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยตามสิทธิบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคด โดย สปสช.ดำเนินการร่วมกับสภาเภสัชกรรม และร้านยาทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมให้บริการ เป็นการอำนวยความสะดวกและลดการเดินทางโรงพยาบาล ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ผ่านไปร่วมสองปีกว่า มีเสียงตอบรับในทางบวกจากผู้ใช้บริการ ตามที่  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. สรุปผลเมื่อปลายปี 2566 ว่า จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยในกลุ่ม 16 กลุ่มอาการ ไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล แต่สามารถรับยาจากร้านขายยาที่เข้าร่วมกับ สปสช.ใกล้บ้านได้ โดยเภสัชกรจะเป็นผู้คัดกรองและจ่ายยาตามอาการที่ปรากฏ

ความที่ สปสช. และสภาเภสัชกรรม ให้เภสัชกรร้านขายยาคัดกรองอาการก่อนจ่ายยา ทำให้แพทยสภา ไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง โดยมองว่าการให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา โดยไม่ผ่านความเห็นของหมอ ขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบวิชาชีพเวชกรรม นโยบายดังกล่าว ทางแพทยสภาจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ แต่ สปสช.ยังมุ่งเดินหน้าไม่ลดละ แถมยังได้แรงหนุนจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ผู้ปลุกปั้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แบบเต็มร้อย

หากยังจำกันได้ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค และเมื่อ  เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่าจะยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งการนัดพบแพทย์ ตรวจเลือด รับยาใกล้บ้าน ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว

ต่อมา  รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร  สานต่อนโยบายนี้เต็มสูบ โดยสนับสนุนนวัตกรรมบริการ  “ร้านยาชุมชนอบอุ่น”  ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ลดการไปโรงพยาบาล ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมกับขยายจาก 16 กลุ่มอาการ เพิ่มเป็น 32 กลุ่มอาการ ในยุคของ หมอสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นมา

ครานี้ แพทยสภาที่พ่ายศึกยกแรกจากการยื่นฟ้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม ต่อศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลไม่รับฟ้องด้วยเหตุผลเพราะขาดอายุความ เดินหน้าเปิดวอร์ยกใหม่ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด พร้อมยกเหตุผลประกอบคำฟ้องว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่มีอายุความ ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ประทับรับคำฟ้องไว้เพื่อพิจารณาคดี

สำหรับสาระสำคัญในคำร้อง แพทยสภาฟ้องว่า ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ สามารถรับยาได้ที่ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยร้านขายยาที่เป็นหน่วยรับบริการสาธารณสุข จะรับค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 นั้น  “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” 


  แพทยสภา ระบุว่า การให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเอง โดยไม่ผ่านความเห็นของหมอ ขัดต่อ พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หมายถึงบุคคลที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากแพทยสภา ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภาเท่านั้น จึงจะสามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้หลังซักประวัติ ตรวจร่างกาย หรือการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ  

แพทยสภา ชี้ว่า นโยบายดังกล่าว สภาเภสัชกรรม กระทำเกินกว่าอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. วิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558) ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจสภาเภสัชกรรม ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ประกอบวิชาชีพได้

ส่วน “ร้านขายยา” มิใช่สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ดังนั้น การให้เภสัชกรจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการ โดยไม่ผ่านการวินิจฉัยโรคของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้
แพทยสภา จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งคือ เพิกถอนประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ. 2566 และระงับการกระทำนี้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด

หลังศาลปกครองสูงสุด รับฟ้องคดี “หมอสมศักดิ์ เทพสุทิน” เรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องประชุม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เพื่อหารือถึงทางออกในเรื่องนี้

ทำไมแพทยสภาถึงต้องฟ้อง สปสช. และ สภาเภสัชกรรม มีคำอธิบายจาก  พญ.ชัญวลี ศรีสุโข  กรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า แพทยสภาไม่ได้ฟ้องสภาเภสัชกรรม แต่ฟ้องคำสั่งของ สปสช.ซึ่งโยงกับสภาเภสัชกรรม เพราะเป็นผู้รับนโยบายมาดำเนินการตามโครงการจ่ายยา 16 กลุ่มอาการโรค ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งกลายเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

พญ.ชัญวลี อธิบายว่า การจ่ายยาของร้านยาตามปกติ ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะคนไข้เป็นคนสั่งซื้อยา เป็นการรักษาตนเอง จ่ายเงินเอง แต่การตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษา เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม 2525 หมวด 5 มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

อย่างไรก็ดี แพทยสภา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเภสัชกรจ่ายยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ตรงนี้เห็นด้วย เพราะจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล แต่ปัญหาคือ 16 กลุ่มอาการ ที่มีรายการยาที่สามารถจ่ายได้นั้น พบว่ามียาที่จะจ่ายได้ต่อเมื่อมีการวินิจฉัยก่อน เช่น กลุ่มอาการตกขาว ยาตา ยาไมแกรน เป็นต้น

เรื่องนี้ แพทยสภา สปสช. และสภาเภสัชกรรม เคยหารือร่วมกันแล้ว แต่ไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายแพทยสภา จึงต้องฟ้องร้อง โดยก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นชี้ว่าขาดอายุความ เพราะต้องฟ้องภายใน 90 วัน กรรมการแพทยสภา จึงมีมติอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลเพื่อควบคุมการประกอบวิชาชีพ และคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนเป็นประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งไม่มีอายุความ ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งกลับคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา พิพากษาตามรูปคดี

กรรมการแพทยสภา ระบุว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด คดียังไม่สิ้นสุด ร้านขายยาจึงยังสามารถจ่ายยาใน 16 กลุ่มอาการได้ และขณะนี้ สปสช.ขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ โดยไม่ให้ลงคำวินิจฉัยเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าองค์ประกอบของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ก็ยังเสี่ยงต่อประชาชน เพราะการไม่วินิจฉัยและใช้ยาอาจไม่สอดคล้องกัน ยาที่ใช้บางชนิดเป็นยาอันตราย ไม่ตรงโรค ทำให้เกิดการดื้อยา

พร้อมกับเสนอว่า หากเภสัชกรร้านยาจ่ายยา ควรปรับรูปแบบการจ่ายเป็น over-the-counter drug : OTC (ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์) ซึ่งไม่ใช่แค่ยาสามัญประจำบ้าน สามารถมาหารือร่วมกันได้ว่า ควรจ่ายยาแบบใด เรื่องนี้แพทยสภาได้หารือกับราชวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีความเห็นถึงปัญหายาอะไรบ้างที่ต้องผ่านการวินิจฉัย

 ทั้งนี้ 32 กลุ่มอาการโรค ที่ร้านยาสามารถให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เป็นไปตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ประกอบด้วย 1.เวียนศีรษะ 2.ปวดหัว 3.ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดฟัน 5.ปวดประจำเดือน 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9.ปัสสาวะแสบขัด 10.ตกขาว 11.แผล 12.ผื่นผิวหนัง 13.อาการทางตา 14.อาการทางหู 15.ไข้ ไอ เจ็บคอ 16.ติดเชื้อโควิด

17.น้ำมูก คัดจมูก 18.มีแผลในปาก 19.ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20.แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง 21.อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22.อาการจากพยาธิ 23.อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25.อาการชา/เหน็บชา 26.อาการนอนไม่หลับ 27.เมารถ เมาเรือ 28.เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29.คลื่นไส้ อาเจียน 30.อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31.อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32.เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก 

พญ.ชัญวลี ยังโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ย้ำว่า การฟ้องร้อง สปสช. และสภาเภสัชกรรม โดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชกร จ่ายยาตามธรรมเนียมเดิมแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับสภาเภสัชกรรม จะมาห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเช่นกัน

ทางด้าน  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี  เลขาธิการ สปสช. ยืนยันว่า สปสช.ยังคงให้สิทธิผู้ป่วยเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ ตราบเท่าที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีคำสั่งอะไร และไม่ขอก้าวล่วงในทางกฎหมายระหว่างวิชาชีพ

เลขาฯ สปสช. อธิบายวัตถุประสงค์ในการนำหน่วยบริการของวิชาชีพต่าง ๆ เข้ามาร่วมดำเนินการ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจสุขภาพประชาชนทุก 2 ปี พบว่าเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น 40% ไปร้านขายยา บอกอาการและซื้อยามารับประทาน สปสช.จึงนำข้อมูลมาปรับใช้ และให้ติดตามอาการโดยเภสัชกร หากรุนแรงขึ้นก็ส่งต่อโรงพยาบาล มั่นใจว่าหน่วยบริการสภาวิชาชีพสามารถเป็นหน่วยบริการในระบบได้และมีเครือข่าย ทั้งวิชาชีพ ทั้งโรงพยาบาล ทั้งแพทย์ ที่ต้องทำงานร่วมกัน

ส่วนสภาเภสัชกรรม ก็ตั้งหลักมั่น โดยโพสต์เฟซบุ๊กหลังมีข่าวสภาเภสัชกรรม และ สปสช. ถูกฟ้องร้องจากแพทยสภาว่า สภาเภสัชกรรม เรียนให้สมาชิกทราบว่าการทำงานตามโครงการของสภาฯ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.วิชาชีพ และได้เตรียมข้อมูลและเอกสาร พร้อมรวบรวมทีมนักกฎหมายเพื่อเตรียมดำเนินการด้านคดี และขอให้เภสัชกรที่ร่วมโครงการดูแลคนไข้อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยตามปกติจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น และให้ทำงานเต็มที่ตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดและถูกต้องตามข้อกำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ความเห็นที่ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ลุกลามกลายเป็นคดี ก่อให้เกิดวิวาทะกันผ่านโลกโซเซียลและหน้าสื่อกันครึกโครม

 รศ.(พิเศษ)นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ  กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับกระบวนการคิดก่อนสั่งยาของแพทย์ว่า ก่อนสั่งยาแพทย์ต้องมีกระบวนการคิดเพื่อวินิจฉัยโรค หรือวินิจฉัยแยกโรคก่อนเสมอ แพทย์จึงต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และสั่งการตรวจที่จำเป็น

รศ.(พิเศษ)นพ.เมธี ยังระบุว่า การสั่งยาโดยไม่มีการวินิจฉัยโรคหรือวินิจฉัยแยกโรค โดยปราศจากเหตุอันสมควร เป็นการประกอบวิชาชีพที่นอกจากจะผิดจริยธรรมแล้ว ยังผิดมาตรฐานร้ายแรง ส่งผลอันตรายถึงชีวิตของประชาชน ไม่มีประเทศใดในโลกอนุญาตให้ทำแบบนี้ โรคร้ายแรงแทบทุกโรค ล้วนเริ่มต้นด้วยอาการเล็กน้อยแทบทั้งสิ้น ความปลอดภัยต่อชีวิตและอนามัยของประชาชนต้องมาก่อนนโยบายอื่นใดเสมอ

ขณะที่  ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอายุรแพทย์ระบบประสาท มองอีกมุมโดยโพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นการรับยา 16 กลุ่มอาการโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านขายยาคุณภาพ ว่าเจตนาเพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ลดความแออัดในโรงพยาบาล กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถ้าได้รับการประเมินและรักษาเบื้องต้นถ้าอาการตอบสนองดีก็จบ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งเภสัชกรจะมีการติดตามผลการรักษาและให้คำแนะนำ

ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการนี้ ต้องผ่านการอบรม ประเมินและทดสอบความรู้ จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับเภสัชกรมานานกว่า 25 ปี พบว่าเภสัชกรสามารถช่วยวินิจฉัยปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้ และมีความสามารถในการใช้ยาได้เป็นอย่างดี ถ้าแพทย์ร่วมมือกับเภสัชกรในโครงการนี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และลดความแออัดลงได้ตามเจตนารมย์ของโครงการ

 เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่รับฟังได้ ทั้งสองฝ่ายต้องมุ่งมั่นแสวงหาทางออกร่วมกัน เพราะเหนือสิ่งอื่นใด การอำนวยความสะดวก ลดการแออัด ต้องมาพร้อมกับความปลอดภัยของผู้ป่วยไข้ควบคู่กันเสมอ 


ที่มา : MgrOnline