วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (14): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680”

เผยแพร่ : 16 พ.ย. 2567 07:42:26
X
หนังสือ “ชาร์ลส์ที่ 11 และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน” โดย เอเอฟ อัปตัน นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน”
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ  “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” ไปบ้างแล้ว ในตอนนี้จะขอสรุปถึงลักษณะสำคัญบางประการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพัฒนาการทางการเมืองการปกครองก่อนหน้าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ดังต่อไปนี้ คือ
 
 หนึ่ง ในศตวรรษที่สิบหก สภาฐานันดร (Riksdag) ของสวีเดน ในฐานะที่เป็นองค์กรการเมืองที่เป็นศูนย์กลางของตัวแทนประชาชนที่ครอบคลุมกว้างขวางมากตั้งแต่ระดับอภิชนจนถึงชาวนา ย่อมมีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อการปกครองของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์วาซา (Vasa) ที่เพิ่งเริ่มสถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1523 และยังไม่ลงหลักปักฐานดีหลังจากสวีเดนเป็นอิสระจากสหภาพคาลมาร์ (the Kalmar Union) ด้วยความจำเป็นที่ต้องการระดมกำลังทหารและการเก็บภาษีมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการรับมือกับภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอก

ทั้งหมดนี้ทำให้การปกครองโดยคนๆ เดียวหรือ ราชาธิปไตย (monarchy)  จำต้องพึ่งพาอาศัยความร่วมมือจากสภาฐานันดร (riksdag) ที่แม้นว่าจะเป็นคณะบุคคล แต่ก็เป็นตัวแทนของพวกอภิชน นักบวช พ่อค้า (the few) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many)

 สอง  จากเหตุผลข้อแรก การสถาปนากฎมณเฑียรบาล (arvforeningen, the Succession Pact  ในปี ค.ศ. 1544 ที่ถือจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่จะพัฒนาไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสมบูรณ์ (Absolute Monarchy) ในปี ค.ศ. 1680 จึงเกิดขึ้นจากการประสานร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาฐานันดร (riksdag) มากกว่าจะเป็นการใช้พระราชอำนาจโดยลำพังของสถาบันพระมหากษัตริย์
 
 สาม  จากเหตุผลทั้งสองข้อข้างต้น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด(Charles XI)  จึงไม่ได้มีการยุบเลิกหรือมีผลกระทบต่อการทำงานของสภาฐานันดรแต่อย่างใด (Riksdag) แต่ยังคงให้มีการสืบสานสภาฐานันดรที่ถือเป็นจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนมากอย่างน้อยตั้งแต่ ค.ศ. 1435

จากเหตุผลบางประการข้างต้นนี้เองที่ ผู้เขียนเห็นควรที่จะใช้กรอบ “Absolutism”  อย่างไม่เคร่งครัด และหากจะเรียกการปกครองที่สถาปนาขึ้นในรัชสมัยของ Charles XI ในปี ค.ศ.1680 ว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คงต้องถือว่า  “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จำกัด” (Limited absolutism)  มากกว่าที่จะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อธิบายกันในทางทฤษฎี

และผู้เขียนเห็นว่า “Absolutism” ที่ไม่เคร่งครัดและ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จำกัด” (Limited absolutism) คือนัยความหมายที่ไม่ต่างไปจากกรอบการปกครองที่เรียกว่า “ราชาธิปไตยแบบผสม” (mixed monarchy) ซึ่งเป็นหนึ่งของรูปแบบการปกครองในทฤษฎีการปกครองแบบผสม (theory of mixed constitution) ที่นักทฤษฎีการเมืองที่สนับสนุนการปกครองอำนาจอันสมบูรณ์ (absolute government) อย่างโทมัส ฮอบส์ (Hobbes) จะไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 

นอกจากผู้เขียนในฐานะที่สนับสนุนทฤษฎีการปกครองแบบผสม จะเห็นว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนภายใต้พระเจ้าชารล์สที่สิบเอ็ดที่เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1680 เป็น “ราชาธิปไตยแบบผสม” แล้ว นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” อย่าง อัปตัน (A.F. Upton) ก็เรียก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” ว่าเป็น “popular royal absolutism”ซึ่งผู้เขียนเห็น จารีตประเพณีการปกครองแบบ “popular royal absolutism” ในสวีเดนเป็น “ราชาธิปไตยแบบผสม” ที่พระมหากษัตริย์ (the One) ประสานกับสามัญชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ (the Many) ในการจำกัดและทัดทานอำนาจของอภิชนที่เป็นคนกลุ่มน้อย (the Few)

อัปตันได้อธิบาย “popular royal absolutism” ว่าเป็น จารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนที่สามารถย้อนกลับไปในสมัยที่ ตระกูลสตูร์ (Sture) ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (the Sture regents) ในช่วงสงครามกลางเมืองภายใต้สหภาพคาลมาร์ในศตวรรษที่สิบห้า โดยพื้นฐาน จารีตการปกครองแบบ “popular royal absolutism” คือการกระทำร่วมกันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสามัญชน ในการที่จะควบคุมอภิสิทธิ์ทางการเมืองและสังคมของพวกอภิชน และเป้าหมายของ “popular royal absolutism” คือ การปลดปล่อยสามัญชนจากการถูกครอบงำและกดขี่โดยพวกอภิชน และปลดปล่อยพระมหากษัตริย์จากข้อจำกัดทางการเมืองและการคลังที่มีต่อเสรีภาพในการกระทำของพระองค์

กล่าวได้ว่า จารีตประเพณีการปกครองแบบ “popular royal absolutism” นี้มีนโยบายหลักสองประการ คือ
 หนึ่ง นโยบายการเวนคืนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (reduction) โดยเฉพาะที่ดินที่เคยเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (the Crown lands) ที่ได้พระราชทานไปให้แก่พวกอภิชน รวมทั้งอภิสิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน (grants) การยกเว้นการเก็บภาษีต่อพวกอภิชนด้วย และจากนโยบายเวนคืนนี้ พระมหากษัตริย์จะมีความเป็นอิสระทางงบประมาณการคลัง (independent revenue) และทรัพยาการในการช่วยเหลืออุปถัมภ์ (source of patronage) และ สามัญชนจะเป็นอิสระจากข้อบังคับเรียกร้องต่างๆและภาษี

 สอง การยืนยันพระราชสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสามัญชนที่มีคุณสมบัติให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ (public offices) บนฐานของความรู้ความสามารถ (merit) ไม่ใช่บนฐานของสถานะทางสังคมชาติกำเนิด แต่สามัญชนจะไม่มีสิทธิ์ในตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญที่ยังจำกัดให้แต่เฉพาะอภิชน และอภิชนที่ดำรงตำแหน่งในสภาบริหารจะสามารถถวายความเห็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเท่านั้น (consulative)

นั่นคือ ขึ้นอยู่กับว่าพระมหากษัตริย์จะทรงขอคำปรึกษา และการปรึกษาหารือในกรณีของสวีเดนนี้จะเป็นไปตามจารีตประเพณีที่กำหนดในกฎหมายแห่งแผ่นดิน (the Land Law) ที่ถูกนำมาตีความให้เกิดความชัดเจนในรัชสมัยของพระเจ้าชารล์สที่สิบเอ็ด ในประเด็นขอบเขตของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ยังมีกรอบแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่พัฒนามาจากความเป็นจริงในประวัติศาสตร์การเมืองของยุโรปในช่วงศตวรรษที่สิบสี่-สิบห้า นั่นคือ regimen regale และ regimen politicum ที่คู่ขนานไปกับกรอบแนวคิด  dominium regale และ dominium politicum et regale 

กรอบแนวคิด  regimen regale  คือ แนวคิดที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สถาปนาขึ้นโดยเชื่อมโยงกับพระผู้เป็นเจ้า และผู้ใต้ปกครองภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์นี้ไม่มีสิทธิ์ มีแต่หน้าที่
 
ส่วน  regimen politicum  คือแนวคิดที่ว่า อำนาจทางการเมืองอยู่ที่ประชาชน โดยมี  homines meliores  (ผู้นำหรือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในหมู่ประชาชน) เป็นตัวแทน ที่พระมหากษัตริย์จะต้องรับผิดชอบการกระทำของพระองค์ต่อตัวแทนดังกล่าวนี้
 dominium politicum et regale  หมายถึง การดุลอำนาจระหว่างผู้ปกครอง/พระมหากษัตริย์และสภาต่างๆที่เป็นสภาแห่งตัวแทน (the representative assemblies) ประชาชนต่างๆหรือถ้าจะกล่าวในบริบทของยุโรปในช่วงต้นสมัยใหม่ก็คือฐานันดรต่างๆ

ส่วน  dominium regale  หมายถึง ภายใต้ดุลอำนาจใน  dominium politicum et regale  พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากนำเหนือสภาตัวแทนประชาชน
 
ในตอนต่อไป จะได้อธิบายความแนวคิด dominium regale และ dominium politicum et regale และแนวคิด regimen politicum และ regimen regale


ที่มา : MgrOnline