ผงะ! ผ่าซากพะยูนไร้หัวพบพยาธิหลายร้อยตัว-ถุงพลาสติก คาดป่วยตายจากร่างกายที่ผอม เร่งล่าตัวคนตัดหัว

เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 19:01:46
X
• ผ่าพิสูจน์พบพยาธิตัวกลม 632 ตัวในลำไส้
• พบเศษพลาสติกในลำไส้ และรอยเชือกรัด
• คาดพะยูนตายจากสภาพร่างกายที่ผอมโซ ป่วย
• เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้กระทำผิดที่ตัดหัวพะยูน

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่ผ่าพิสูจน์ซากพะยูนไร้หัวหาสาเหตุการตายแล้ว ผงะพบพบพยาธิตัวกลมถึง 632 ตัว พลาสติกในลำไส้ และมีรอยเชือกรัด คาดป่วยตายจากสภาพร่างกายที่ผอม พร้อมเร่งล่าตัวคนร้ายตัดหัว

จากกรณีมีการพบพะยูนตาย ถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่ปากคลองเข้าท่าเรือบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบถูกตัดหัว สร้างความสะเทือนใจให้ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถือเป็นจุดที่มีฝูงพะยูนอพยพเข้ามาจำนวนมาก หลังเกิดปัญหาวิกฤตหญ้าทะเลในพื้นที่ จ.ตรัง

ล่าสุด วันนี้ (15 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้รายงานผลการชันสูตรซากพะยูนเกยตื้นดังกล่าวว่า อยู่ในช่วงโตเต็มวัย เพศผู้ ความยาวลำตัว 223 ซม.ไม่รวมส่วนหัว น้ำหนักประมาณ 250 กก. สภาพซากเน่ามาก ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในระดับผอม (BCS 2/5) และพบเชือกรัดบริเวณโคนหาง ซึ่งตรวจสอบรอยรัดพบหลังการตาย ทำการตรวจร่างกายภายนอกด้านหลังพบรอยแผลจากพฤติกรรมฝูง มีเพรียงขนาด 1 ซม. เกาะตามร่างกายซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพะยูนเริ่มมีการเคลื่อนไหวน้อยลง รอยแผลถลอกโดยรอบร่างกาย 

และพบรอยจากของมีคมตัดโดยรอบส่วนคอ และส่วนหัวหายไปโดยตัดขาดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอชิ้นแรก คาดว่าเกิดหลังการตาย และพบรอยรัดลึกบริเวณครีบข้างทั้งสองด้าน บริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังส่วนท้ายลำตัวพบรอยช้ำ ส่วนของอวัยวะภายในมีสภาพเน่ามาก ทางเดินหายใจไม่พบของเหลวคั่งและไม่พบรอยโรคทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารพบหญ้าทะเลอัดแน่น พบถุงพลาสติกอ่อน 1 ชิ้นปนอยู่ในหญ้าทะเล และพบพยาธิตัวกลม จำนวน 632 ตัว พบอาหารอยู่ในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่

สรุปสาเหตุการตาย คาดว่าพะยูนเริ่มมีอาการป่วย เนื่องด้วยสภาพร่างกายที่มีความผอมทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และการพบรอยพันรัด รอยช้ำของกล้ามเนื้อซึ่งอาจทำให้สัตว์เสียชีวิตลงแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีหาตัวผู้กระทำผิดเพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างกับผู้อื่นต่อไป

นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก นอกจากทราบสาเหตุการตายของพะยูนแล้ว สิ่งสำคัญคือ การสืบหาตัวบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ก่อเหตุต่อพะยูนดังกล่าว ซึ่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เรามีรายงานสถานการณ์พะยูนเกยตื้นมากกว่าปกติถึง 2 เท่า และหากย้อนหลังไป 2 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า นั่นหมายถึงว่า พะยูนขณะนี้มีอัตราการตายมากกว่าประชากรที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยพะยูนในฝั่งอันดามันปัจจุบันลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสามที่เคยมีในอดีต

ที่มา : MgrOnline