“โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน” กับ การสนับสนุนสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมในเด็ก
เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 18:39:16
• 1,000 วันแรก (ตั้งแต่ตั้งครรภ์ถึง 2 ขวบ) เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิตเด็ก
• สมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในช่วงนี้
• การเลี้ยงดูและการดูแลในช่วง 1,000 วันแรก มีผลต่อการพัฒนาของเด็กในอนาคตอย่างมาก
• การได้รับโภชนาการที่เพียงพอและการกระตุ้นพัฒนาการ มีผลต่อการพัฒนาสมองและร่างกายของเด็ก
• ช่วง 1,000 วันแรกเป็นรากฐานสำคัญ สำหรับการพัฒนาและการเติบโตของเด็กในอนาคต
“หนึ่งพันวันมหัศจรรย์ของช่วงชีวิต” หรือ “The First 1,000 Days” คือช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่สุดของชีวิตเด็กมากที่สุด ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 2 ขวบ โดยสมองจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมทั้งความสำคัญต่อการรับรู้และการจดจำของเด็ก ขณะเดียวกันด้านร่างกายก็มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วไปพร้อมกัน สารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสมองของเด็กตั้งแต่มีการปฏิสนธิในครรภ์มารดาตลอดจนเจริญเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยอื่น ๆ ในระยะต่อมา
การมีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก การให้ความสำคัญกับอาหารถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในวัยเรียน อาหารกลางวันและโรงเรียนถือเป็นสถานที่หนึ่งที่สำคัญที่ทำหน้าที่รับช่วงต่อในการให้การดูแลแก่เด็กต่อจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการอาหารกลางวัน และ UNICEF Advisory group on Nutrition Preservice Education รวมทั้งวิทยากรและกรรมการของโครงการ Promotion of Well-being in Schools in Southeast Asia ของ SEAMEO กล่าวว่า โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนของประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกราว 50 ปีก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหาร พลังงานและโปรตีน รวมถึงวิตามินที่จำเป็นชนิดต่าง ๆ ในเด็ก อาทิ วิตามินเอ ไอโอดีน และธาตุเหล็ก ส่งผลให้เกิด “โรคพุงโรก้นปอด” จำนวนมากในขณะนั้น โดยประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ในปัจจุบันยังมีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนและนมโรงเรียน และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดอาหารมื้อกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศซึ่งอยู่ในสังกัด รวมถึงเด็กอนุบาล และในปีงบประมาณ 2568 งบประมาณอาหารกลางวัน ได้อนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ของโรงเรียนขยายโอกาส สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 200 วัน/ปีการศึกษา จำนวน 7,344 แห่ง จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 575,983 คน
การจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันใหม่นี้ ในเบื้องต้นรองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ สรณเจริญพงศ์ ในฐานะคณะทำงานประชุมเชิงปฎิบัติการการจัดทำข้อเสนอเพื่อขอปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ได้เสนอหลักการการเพิ่มงบประมาณจากเดิม 20 บาทต่อหัว จำนวน 200 วันต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได โดยโรงเรียนแต่ละขนาดจะได้ไม่เท่ากัน ซึ่งใช้หลักการคำนวณจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบเป็นหลัก เช่น ค่าข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ รวมถึงค่าจ้างแม่ครัวมาประกอบอาหาร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ โดยโรงเรียนที่มีขนาดเล็กมากเท่าไหร่ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบก็สูงกว่าโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ และเพื่อให้เด็กได้รับคุณค่าทางโภชนาการและปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อวันตามเกณฑ์มาตรฐานการจัดอาหารกลางวันอย่างเท่าเทียมกัน โรงเรียนที่มีนักเรียน 1-40 คน ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 36 บาท โรงเรียนที่มีนักเรียน 41-100 คน ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 27 บาท โรงเรียนที่มีนักเรียน 101-120 คน ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 24 บาท และ โรงเรียนที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป ได้รับเงินสนับสนุนคนละ 22 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนด้านงบประมาณเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาอาหารกลางวันในโรงเรียนได้อย่างครอบคลุม การใช้ทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมกับหน้าที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กได้รับอาหารและสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โรงเรียนส่วนใหญ่กำหนดให้ครูซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอน ตรวจข้อสอบ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษาให้แก่เด็กกลับต้องรับหน้าที่เป็นผู้เลือกซื้อวัตถุดิบ คิดเมนูอาหารกลางวัน และทำอาหารให้เด็กรับประทานด้วยบางครั้งในแต่ละวัน ซึ่งบางครั้งครูก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการอาหารที่เพียงพอ นอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ครูแล้วยังส่งผลให้เด็กอาจได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างอาหารกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียนของประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น พบว่า โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นจะมีนักโภชนาการอย่างน้อย 1 คน ที่ผ่านการฝึกอบรมตามเกณฑ์และได้รับใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้องมาปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ทุกโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น โดยนักโภชนาการจะเป็นผู้ดูแลด้านอาหารการกินและสุขภาพของเด็กในโรงเรียนโดยเฉพาะ อาหารกลางวันในโรงเรียนญี่ปุ่นจึงเป็นอาหารที่สามารถควบคุมรสหวาน มัน เค็ม ซึ่งจะเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs ) อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูงในอนาคตแก่เด็กได้ นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังมีการปลูกฝังความคิดและสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และส่งผลดีต่อร่างกายตั้งแต่วัยเด็ก โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นไม่มีร้านค้าหรือซุ้มจำหน่ายขนมกรุบกรอบและน้ำหวาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนให้เด็กหันมาเลือกซื้อและรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ได้ ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดอาหารมื้อกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียนจะเป็นการจ่ายร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นและผู้ปกครองซึ่งมีส่วนในการดูแลค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับบุตรหลานของตนเอง และสามารถมั่นใจได้ว่าโรงเรียนจะจัดเตรียมอาหารกลางวันที่มีคุณภาพดี สำหรับเด็กไว้อย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและมีสารอาหารที่ครบถ้วนในปริมาณเหมาะสมเพียงพอต่อวัน อีกทั้งเด็กจะรู้สึกอิ่มจนถึงเวลาที่ผู้ปกครองมารับกลับบ้านได้โดยไม่ต้องซื้อขนม น้ำหวาน หรือนำอาหารอื่น ๆ ติดกระเป๋ามาจากบ้านอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ กล่าวต่อว่า “ธงโภชนาการ” เป็นหนึ่งในผลงานจากการทำวิจัยสมัยปริญญาโท ในนามมหาวิทยาลัยมหิดล ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทยโดยมีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งบรรจุในตำราเรียนในสถานศึกษา และโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้อย่างง่ายเกี่ยวกับปริมาณอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน ได้แก่ กลุ่มข้าวหรือแป้ง วันละ 8-12 ทัพพี ผักวันละ 4-6 ทัพพี ผลไม้วันละ 3-5 ส่วน เนื้อสัตว์วันละ 5-12 ช้อนกินข้าว นมวันละ 1-2 แก้ว และน้ำตาล น้ำมัน เกลือ แนะนำให้รับประทานวันละน้อย ๆ เพื่อสุขภาพที่ดี แม้โรงเรียนในประเทศไทยจะยังไม่มีนักโภชนาการที่เข้าไปช่วยกำกับดูแลมื้ออาหารกลางวันให้แก่เด็ก หากแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนสามารถใช้ความรู้จากการเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ที่คณะทำงานและกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันจัดทำไว้ให้ผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมนำความรู้จากธงโภชนาการไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน เพื่อให้การประกอบอาหารกลางวันสำหรับเด็กมีสารอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ยิ่งขึ้นได้
การวางแผนอย่างเป็นระบบด้านโภชนาการอาหารและการผลักดันให้เกิดนักโภชนาการประจำตำบล หรือชุมชน หรือโรงเรียน จะเป็นกุญแจชิ้นสำคัญที่นำพาเด็กและคนในชุมชนไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการส่งเสริมสุขภาพให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
… การลงทุนในเด็ก เราอาจจะวัด cost-effectiveness ไม่ได้ แต่จะเริ่มเห็นดอกผลตอนที่พวกเขาเจริญเติบโต และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ในตอนนี้ที่พวกเราเป็นผู้ใหญ่ เราควรหันมาใส่ใจเด็กไทย หันมาช่วยกันทำอย่างไรให้เด็กไทยเติบโตสมส่วน ฉลาด และเป็นคนดีของครอบครัวของสังคมไทย นโยบายต่างๆ หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ขออย่าเป็นเพียงอะไรที่สวยหรู จับต้องไม่ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทำแล้วต้องช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนอย่างจริงจังตามศักยภาพหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน แต่ละภาคส่วนที่ต้องช่วยกันทำอย่างต่อเนื่อง… รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : MgrOnline