“ธีระชัย” โต้ “สุรเกียรติ์” แจงปม MOU44 ไม่ครบ ไร้การันตีไม่เสียดินแดน ลัดขั้นตอนเปรียบเอารถลากม้า ชี้เจรจาติดหล่ม 23 ปีสำเร็จยาก มีทางเดียวต้องเลิก

เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 17:59:29
X
• ธีระชัยโต้แย้ง ดร.สุรเกียรติ์ กรณี MOU 44 ไม่ครบถ้วน
• ยืนยันไม่มีใครการันตีว่าไทยจะไม่เสียดินแดน
• กัมพูชาอาจอ้างสิทธิ์ตามเส้นแบ่งเขตใน MOU เมื่อปิโตรเลียมหมด ซึ่งเส้นดังกล่าวลากผ่านเกาะกูด ขัดกฎหมายสากล
• การทำแผนที่พัฒนาร่วมกันเป็นการลัดขั้นตอน

“ธีระชัย” โต้ “ดร.สุรเกียรติ์” แจงปม MOU44 ไม่ครบ ยันไม่มีใครการันตีจะไม่เสียดินแดน เมื่อปิโตรเลียมหมดกัมพูชาอาจอ้างสิทธิตามเส้นที่ลากผ่านเกาะกูด ที่ไทยยอมรับไว้ใน MOU ทั้งที่ขัดหลักกฎหมายสากล แถมยังลัดขั้นตอน ตราแผนที่พัฒนาร่วมขึ้นก่อนเพื่อเจรจาปิโตรเลียมแบบเร่งรีบ โดยที่ยังไม่ตกลงเรื่องเขตแดน ชี้เจรจาติดหล่มมา 23 ปี สำเร็จยาก มีทางเดียวต้องยกเลิก หรือไม่ก็ให้คุยเรื่องปิโตรเลียมอย่างเดียว ส่วนเรื่องเขตแดนต้องใช้กลไกอื่น

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล”
ในหัวข้อ ดร.สุรเกียรติ์ชี้แจง MOU44 ไม่ครบ เพื่อตอบโต้กรณี ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ The Standard เกี่ยวกับ MOU ระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ทำไว้เมื่อปี 2544 หรือ MOU44 โดยนายธีระชัยระบุว่า ผู้ลงนามใน MOU44 ออกโรงเองแล้ว

รูป 1 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. กล่าวว่าไทยได้ประโยชน์จาก MOU44 และไม่มีการเสียดินแดน

คือล้อตามรัฐบาลชุดนี้ ที่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เป็นเพียงข้อตกลงตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องสิทธิเรียกร้องที่ทับซ้อนกัน

[โดยระบุว่า MOU44 มีข้อดีอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่

1. เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน เพราะยังไม่มีการเจรจา

2. เป็นการบอกว่าจะเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาไปพร้อมกับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกันอยู่ เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้

3. MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ OCA ทั้งของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลวก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างสิทธิใดๆ

ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่ายกเลิก MOU ได้ แต่มีคำถามเพิ่มเติมคืออาจจะไม่ได้ความตกลงที่กัมพูชายอมเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลไปพร้อมๆ กับเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม]

@ เป็นการดีที่ ดร.สุรเกียรติ์ออกมาชี้แจง เพราะท่านเป็นผู้ลงนามใน MOU44
แต่ผมมีความเห็นว่า ท่านชี้แจงประชาชนไม่ครบถ้วน ดังนี้

**1 ถามว่า ท่านกล่าวว่าไทยจะไม่มีทางเสียดินแดน จริงหรือไม่?

ตอบว่า ไม่มีใครยืนยันได้ 100% และคนที่ยืนยันในวันนี้ ในอนาคตอีก 30-40 ปี จะไม่อยู่ให้ลูกหลานตำหนิแล้ว

เมื่อปิโตรเลียมหมดลง กัมพูชาอาจจะหวนกลับมาอ้างถึงเส้นเขตแดนผ่านเกาะกูดที่ไทยรับรู้ก็ได้

ท่านไม่ต้องยืนยันหรอกครับ

แต่มีวิธีที่ไทยจะไม่มีทางเสียดินแดนอย่างแน่นอน ก็คือปิดความเสี่ยง 100% โดยไทยต้องไม่ไปรับรู้เส้นผ่านเกาะกูดอย่างเป็นทางการ

**2 ถามว่า ท่านกล่าวว่า MOU44 ไม่เกี่ยวกับเกาะกูด จริงหรือไม่?

ตอบว่า ไม่จริง

MOU44 มีแผนที่ที่แสดงเส้นของกัมพูชา โดยเว้นอ้อมด้านล่างเกาะกูดเป็นตัว U

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า เส้นจริงในพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 1 ก.ค. 1972 ของกัมพูชา (รูป 2-5) นั้น ไม่ได้อ้อมเกาะกูด

แต่พาดผ่านเกาะกูด 100%? (รูป5 ที่ปลายลูกศร)



-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า กัมพูชาลากเส้นผ่านเกาะกูดโดยอ้างสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสปี 1907 (ข้อความในรูป 2)

แต่เป็นการอ้างที่บิดเบือนเจตนารมณ์?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า ในรูป 3 พระราชกฤษฎีกากัมพูชาระบุว่า ลากเส้นเขตไหล่ทวีป ไปถึงจุด "P"

โดยอ้างว่าจุด "P" เป็น Point equidistant to the Cambodian base of Kusrovic and the line of Thailand base opposite

แปลว่า จุด "P" เป็นจุดที่มีระยะห่างเท่ากันจากฐานของกัมพูชา ที่เกาะกง (Kusrovic) กับฐานของไทยในฝั่งตรงกันข้าม

ซึ่งหมายความว่า กัมพูชาไม่ได้ถือว่าฐานของไทยอยู่ที่เกาะกูด

หรือพูดแบบชาวบ้าน กัมพูชาไม่ได้ถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า ท่านไปทำแผนที่ที่แสดงเส้นของกัมพูชา โดยเว้นอ้อมด้านล่างเกาะกูดเป็นตัว U ด้วยเหตุผลใด?

มีใครเจตนาบิดเบือนพระราชกฤษฎีกากัมพูชา เพื่อหวังให้คนไทยเข้าใจเสมือนหนึ่งว่า กัมพูชายอมรับว่าไทยมีอธิปไตยเหนือเกาะกูด 100% หรือไม่?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า เส้นที่ผ่านเกาะกูดดังกล่าวผิดกฏหมายสากลโดยสิ้นเชิง?

สรุปแล้ว การที่ท่านเอาเส้นที่ผ่านเกาะกูดไปรับรู้ไว้ใน MOU แล้วท่านจะบอกว่าไม่มีอะไรเกี่ยวกับเกาะกูดได้อย่างไร?

**3 ถามว่า ท่านกล่าวว่า MOU44 เป็นเพียงข้อตกลงตั้งคณะกรรมการเจรจา จริงหรือไม่?

ตอบว่า ไม่จริง

ขั้นตอนปกติทั่วโลกในการเจรจาแบ่งปิโตรเลียม จะเริ่มต้นด้วยเจรจากำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเสียก่อน หลังจากนั้นจึงจะเจรจาสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์

แต่ไม่น่าเชื่อว่า MOU44 ไปทางลัด

โดยตราแผนที่อาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมขึ้นก่อนเลย เพื่อให้สองประเทศเริ่มเจรจาปิโตรเลียมแบบเร่งรีบ

ผมไม่เห็นมีคู่ประเทศอื่นใดทำแบบนี้

-ทำไมท่านไปบอกประชาชนว่า ลำดับขั้นตอนการทำ MOU44 ที่กลับหัวกลับหาง เอารถไปลากม้า ไม่ใช่เอาม้าไปลากรถ

การที่ท่านทำขั้นตอนที่ขัดกับประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิงนั้น มีวัตถุประสงค์แท้จริงอย่างไร?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า ท่านไม่กำหนดใน MOU44 ให้เจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วม แสดงว่าสองประเทศลงนามได้ยอมรับอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไปแล้ว ใช่หรือไม่?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า การที่ท่านกับนายซกอัน ผู้ร่วมลงนาม ไปกำหนดเส้นอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วม โดยด้านทิศเหนือ เป็นเส้นละติจูด 11 องศา นั้น

สองท่านร่วมกันคิดถึงขึ้นมาเอง ทั้งที่ไม่มีกติกานี้อยู่ในอนุสัญญาเจนีวา ใช่หรือไม่?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า เส้นอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมด้านทิศตะวันตกนั้น เป็นเส้นสืบเนื่องจากจุด "P"

และเนื่องจากจุด "P" ผิดกฏหมายสากล

ดังนั้น เส้นอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมด้านทิศตะวันตกที่ท่านไปร่วมตกลงกับกัมพูชาไปแล้ว นั้น ย่อมผิดกฎหมายสากลไปด้วย?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า แผนที่อาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วม มีผลเป็นการที่ท่านทำให้ผลประโยชน์ของคนไทยในอาณาเขตของรัฐ เปลี่ยนแปลงไปจากเขตไหล่ทวีปในพระบรมราชโองการปี 2516

การทำเช่นนี้ จึงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน แต่ท่านกลับไม่นำเสนอรัฐสภา?

**4 ถามว่า การเจรจาปิโตรเลียมไปพร้อมกับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนเป็นประโยชน์แก่ไทยอย่างยิ่ง จริงหรือไม่?

ตอบว่า ไม่จริง

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า ถ้าหากเจรจาเขตแดนสำเร็จ ถ้าหากกัมพูชาจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสากล ก็จะต้องยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเส้นผ่านเกาะกูด และออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเส้นขึ้นใหม่

แต่ในทางการเมือง ไม่มีทางประชาชนกัมพูชาจะรับได้?

-ทำไมท่านไม่บอกประชาชนว่า ในขณะเดียวกัน ถ้าผลการเจรจาจะทำให้ไทยต้องยอมรับเส้นที่ผิดกฎหมายสากล รัฐสภาไทยและประชาชนก็จะรับไม่ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น การผูกสองเงื่อนไขไว้ด้วยกันซึ่งทำให้การเจรจาในกรอบ MOU44 ติดหล่มมา 23 ปี จึงสำเร็จได้ยาก?

สรุปแล้ว ยกเลิก MOU44 แล้วทำข้อตกลงเริ่มการเจรจาใหม่

ระบุให้เจรจาเฉพาะเรื่องอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมปิโตรเลียมใหม่ โดยระบุชัดเจนว่า ไม่เกี่ยวกับทะเลอาณาเขต ไม่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และไม่เกี่ยวกับไหล่ทวีปให้เป็นเขตเจรจาร่วมเฉพาะเรื่องปิโตรเลียม

ส่วนเรื่องเขตแดนในทะเลนอกเหนือจากปิโตรเลียม ให้ทำการเจรจาไปตามกติกาเจนีวา ถือเป็นเรื่องต่างหาก

วิธีนี้ จะมีโอกาสสำเร็จและนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ร่วมกันได้เร็วกว่า ใช่หรือไม่?

ที่มา : MgrOnline