ลุ้นขยะกระทงในกรุง “เพิ่ม-ลด” ปีที่แล้ว 6.3 แสนใบ
เผยแพร่ : 15 พ.ย. 2567 12:28:53
• เทศกาลลอยกระทง กลับมาอีกครั้ง
• ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
• ประเพณีลอยกระทง เพื่อสะเดาะเคราะห์และขอขมาพระแม่คงคา
เทศกาลลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อพระแม่คงคา บางหลักฐานเชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที และบางหลักฐานก็ว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก
ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย จัดงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่น่าห่วงใยตามมาด้วยทุกปี คือ ปัญหาของขยะกระทง
เพจเฟซบุ๊ค CHULA Zero waste เผยว่านอกจากการชวนหวานใจไปร่วมลอยกระทงให้ความรักยืนยาว เดินเล่นริมน้ำ กินสตรีทฟู้ดแสนอร่อยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือปัญหาขยะจากกระทง🗑️
แม้เราจะได้ยินการรณรงค์เรื่องการลดและงดการลอยกระทงกันจนชิน แต่เรื่องน่าเศร้าก็คือจากสถิติของสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครในปีพ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ขยะกระทงในกรุงเทพฯ ยังมีมากถึง 6.3 แสนใบ นี่เป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นมาถึง 11.7% จากพ.ศ. 2565 ด้วย เพราะแบบนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาให้ความสำคัญกับปัญหาขยะกระทงกันอย่างจริงจังอีกครั้ง เพราะหลายคนอาจมองว่าเดี๋ยวนี้เรามีกระทงทางเลือกมากมาย ซึ่งกระทงเหล่านี้อาจเป็นทางเลือกที่ฟังดูดี แต่เมื่อมีมากเกินไปก็อาจกลายเป็นมลพิษทางน้ำ ชวนให้พระแม่คงคาปวดหัวได้อยู่ดีนะ😭
อย่างกระทงขนมปังที่เราคิดว่าลอยไปสุดท้ายปลาก็คงมากิน หากมีมากไป นอกจากปลาจะกินไม่ไหวหรือบางคนเลือกลอยในแหล่งน้ำที่ไม่มีปลา ขนมปังเหล่านี้ก็อาจเน่าเสีย กลายเป็นขยะอาหารที่ทำให้น้ำเสีย หากยังจำกันได้ กระทงขนมปังทำปลาตายเกลื่อนบ่อ กทม. ต้องลอกบ่อใหม่ และใช้เวลาฟื้นฟูให้ค่าออกซิเจนในบ่อกลับมาพอไหวอีก 3-4 เดือน!!!🫨
กระทงจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งมีมากถึง 96.74% ของกระทงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหยวกกล้วยหรือใบตองที่เราคิดว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่ากระทงโฟม พอถึงเวลาจริง เมื่อมีจำนวนมากๆ เข้าก็อาจกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่จัดการขยะได้เช่นกัน หลายครั้งหากหลุดรอดจากการเก็บกวาดก็อาจกลายเป็นขยะเน่าเสียในแหล่งน้ำได้ไม่ต่างจากกระทงชนิดอื่นๆ แทนที่จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงอาจเป็นทั้งภัยต่อแหล่งน้ำและเป็นภาระให้คนอื่น ที่แย่ไปกว่านั้น การย่อยสลายวัสดุธรรมชาติเหล่านี้มักทำได้ด้วยการนำไปทำปุ๋ย แต่เมื่อกระทงมีมากเกินกว่าจะจัดการไหว ก็อาจต้องถูกเทรวมไปกับขยะในแหล่งน้ำและกระทงชนิดอื่นอยู่ดี สุดท้ายจึงมีปลายทางที่น่าเศร้าไม่ต่างจากขยะอื่นๆ เลย🙀
อย่าปล่อยให้คำว่ากระทงรักษ์โลกมาหลอกให้เราตายใจ ถ้ายังอินกับงานลอยกระทง แค่แวะเวียนไปเดินเล่นเก็บบรรยากาศ โดยไม่หย่อนอะไรลงน้ำ แค่นี้พระแม่คงคา (และพี่ๆ คนเก็บขยะ) ก็คงปลื้มใจมากแล้วล่ะ หรือถ้ายังอยากลอยกระทงอยู่ ลองเลี่ยงการลอยกระทงที่แหล่งน้ำ หันมาลอยกระทงออนไลน์ดูก็ได้ เดี๋ยวนี้เขามีลูกเล่นมากมาย มีกระทงหลากหลาย แถมเลือกลอยตามแม่น้ำได้ทั่วประเทศ ขอพรกับพระแม่คงคาได้แบบสบายใจ โดยไม่เป็นภาระพี่ๆ คนเก็บขยะแม้แต่นิดเดียว แล้วมาช่วยกันลดสถิติขยะกระทงในเทศกาลลอยกระทงปีนี้กันนะ🤗💪♻️🗑️
ที่มา : MgrOnline