ชอบชเลียร์ไม่สนเก่ง!! โผรายชื่อคณะบริหารทรัมป์ 2.0 ฟ้องชัด คุณสมบัติไม่จำเป็นเท่าความจงรักภักดี

เผยแพร่ : 14 พ.ย. 2567 23:29:16
X
• ทรัมป์เลือกคนจงรักภักดีนั่งตำแหน่งสำคัญ: แม้พวกนี้จะขาดประสบการณ์ในบทบาทนั้น
• ทรัมป์ต้องการปรับทิศทาง: การเลือกคนเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเดิม
• การทดสอบสถาบันอำนาจ: การเลือกบุคคลเหล่านี้ถือเป็นการท้าทายสถาบันสำคัญๆ ของอเมริกา
ส.ส.แมตต์ เกตซ์ สังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐฟลอริดา ที่โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม
ทรัมป์ทำพันธมิตรบางคนงงงวยด้วยการเลือกพวกที่จงรักภักดีต่อตัวเองนั่งตำแหน่งสำคัญแม้ไร้ประสบการณ์ในบทบาทดังกล่าว ตอกย้ำเป้าหมายในการปรับทิศทาง หรือไม่ก็ทดสอบถวกสถาบันแห่งอำนาจของอเมริกา

วันพุธ (13 พ.ย.) ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างเซอร์ไพรส์อีกครั้งด้วยการเสนอชื่อ แมตต์ เกตซ์ เป็นรัฐมนตรียุติธรรม ทั้งที่อดีตทนายความวัย 42 ปีผู้นี้ไม่เคยทำงานในกระทรวงยุติธรรมหรือเป็นอัยการมาก่อน ซ้ำยังเคยถูกสอบสวนข้อกล่าวหาค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณี อย่างไรก็ดี เมื่อปีที่แล้วเขาได้รับแจ้งจากอัยการว่า จะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญา

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังเลือก ทัลซี แก็บบาร์ด เป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ อดีตสมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคเดโมแครตที่ต่อมากลับใจมาเป็นพันธมิตรทรัมป์ผู้นี้ เคยประกาศคัดค้านการแทรกแซงทางทหารในสงครามกลางเมืองซีเรียสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และบอกเป็นนัยว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มีเหตุผลชอบธรรมในการบุกยูเครน

อย่างไรก็ดี แก็บบาร์ดที่เคยประจำการในอิรักระหว่างปี 2004-2005 ในตำแหน่งพันตรีของกองทหารรักษาดินแดน (เนชั่นแนลการ์ด) รัฐฮาวาย และปัจจุบันมียศพันโทในกองกำลังสำรองกองทัพบกนั้น มีประสบการณ์โดยตรงกับงานข่าวกรองน้อยมาก และอยู่นอกเหนือความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ว่า จะได้รับเลือกสำหรับตำแหน่งนี้ที่ต้องรับผิดชอบหน่วยงานจารกรรมถึง 18 แห่ง

ทรัมป์ยังเสนอชื่อวุฒิสมาชิกมาร์โก รูบิโอ ผู้มีจุดยืนแข็งกร้าวกับจีน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

โดยรวมแล้ว ตัวเลือกในคณะบริหารทรัมป์ 2.0 ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานของรัฐบาลสหรัฐฯ และบทบาทของอเมริกาในเวทีโลกในช่วง 4 ปีข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์บอกว่า เขาต้องการยุติการใช้กระทรวงยุติธรรมเป็นอาวุธ ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงการที่ตัวเขาเองถูกดำเนินคดีอาญาโดยเขาเชื่อว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองเพื่อขัดขวางไม่ให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทว่า กระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า ดำเนินการโดยไม่มีความโน้มเอียงทางการเมืองใดๆ

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ลักษณะพิเศษหนึ่งที่สะท้อนจากตัวเลือกในคณะบริหารของทรัมป์คือ การเลือกคนที่จงรักภักดีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และไม่มีแนวโน้มต่อต้านคำสั่งของตนแม้เป็นคำสั่งที่สร้างความขัดแย้งที่สุดก็ตาม

แหล่งข่าววงในคนหนึ่งยกตัวอย่างว่า เกตซ์จะทำทุกอย่างที่ทรัมป์สั่ง และนั่นคือเหตุผลที่ทรัมป์เลือกบุคคลนี้

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดคนรอบตัวทรัมป์ที่รวมถึงผู้บริจาค ที่ปรึกษา และผู้จัดงานระดมทุน ต่างบอกว่า ช็อกที่ทรัมป์เลือกเกตซ์ที่มีคุณสมบัติความเหมาะสมน้อยเหลือเกิน แถมยังเคยถูกกระทรวงยุติธรรมสอบสวนมาก่อน

ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่ออีกหลายคนขาดคุณสมบัติสำคัญเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น พีท เฮกเซธ ผู้ดำเนินรายการของฟ็อกซ์ นิวส์ ที่ถูกทาบทามคุมกระทรวงกลาโหมซึ่งต้องรับผิดชอบเจ้าหน้าที่ 3 ล้านคน รวมถึงกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกเดโมแครตจากอิลลินอยส์ที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการการกลาโหม ชี้ว่า รัฐมนตรีกลาโหมเป็นงานที่จริงจังมาก และการแต่งตั้งผู้ที่ไร้คุณสมบัติอย่างเฮกเซธถือเป็นอันตรายสำหรับอเมริกา

ไม่ใช่แค่ผู้ได้รับเสนอชื่อในบทบาทด้านความมั่นคงและต่างประเทศเท่านั้นที่ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการช่วยปกป้องยูเครนจากการรุกรานของรัสเซีย แต่คำพูดบางอย่างของบุคคลเหล่านี้แสดงท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ต่อเคียฟอย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น แก็บบาร์ดที่จะต้องรับผิดชอบงานข่าวกรองทั้งในและนอกประเทศ ที่ให้ภาพปูตินเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญของรัสเซีย ขณะที่ยูเครนคือระบอบโจราธิปไตยทุจริต

เวลาเดียวกัน แม้พรรครีพับลิกันควบคุมวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาของรีพับลิกันส่วนใหญ่จะสนับสนุนผู้ได้รับการเสนอชื่อจากทรัมป์ แต่มีแนวโน้มว่า การเสนอชื่อบุคคลเหล่านี้จะเป็นการทดสอบว่า สมาชิกรีพับลิกันในสภาจงรักภักดีต่อทรัมป์และวิสัยทัศน์ของว่าที่ประธานาธิบดีคนนี้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน การเลือกรูบิโอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจะช่วยคลายกังวลให้เหล่าพันธมิตรของอเมริกาที่เคยวิตกว่า ทรัมป์อาจถอนตัวจากเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกอย่างนาโต และหันไปย้ำนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” อย่างที่หาเสียงไว้

ระหว่างแถลงเสนอชื่อ ทรัมป์ยกย่องว่า รูบิโอจะเป็นตัวแทนของประเทศ เป็นมิตรแท้สำหรับพันธมิตรของอเมริกา และนักรบที่กล้าหาญที่จะไม่มีวันยอมจำนนต่อศัตรู

กระนั้น นักวิเคราะห์บางคนสงสัยว่า รูบิโอจะกล้าคัดค้านทรัมป์หรือไม่ เนื่องจากว่าที่ประธานาธิบดีผู้นี้มักยึดความจงรักภักดีส่วนตัวเป็นข้อกำหนดหลักในการแต่งตั้งสมาชิกคณะบริหาร

แอรอน เดวิด มิลเลอร์ นักวิชาการอาวุโสของคาร์เนกี เอนดาวเมนต์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล พีซ ที่เคยทำงานในคณะบริหารทั้งของเดโมแครตและรีพับลิกัน บอกว่า ที่ปรึกษาจะต้องคัดค้านประธานาธิบดีเมื่อจำเป็น และสำทับว่า ทรัมป์จะต้องเผชิญความท้าทายด้านนโยบายต่างประเทศมากมายเมื่อเข้ารับตำแหน่ง

(ที่มา : รอยเตอร์)

ที่มา : MgrOnline