"พล.ต.อ.เอก" แจงยิบหลักเกณฑ์แต่งตั้งนายพลสีกากี ตามแนวคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.
เผยแพร่ : 14 พ.ย. 2567 17:58:14
• ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิชี้แจงกฎเหล็ก ก.พ.ค.ตร. การแต่งตั้งนายพล
• ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นผิดวินัย
• ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาลงโทษภายใน 30 วัน
ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กางแนวคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ย้ำแต่งตั้งนายพลสีกากี หากไม่ยึดหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ถือว่าทำกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษภายใน 30 วัน
วันนี้ (14 พ.ย.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ใจความว่า แนวทางตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)เกี่ยวกับการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับนายพล
1.การคัดเลือกหรือแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ถึง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อตามที่ได้จัดเรียงตามลำดับอาวุโส (มาตรา 82 (1))
และตำแหน่ง ผบช. ถึง ผบก. ให้พิจารณาจากบัญชีรายชื่อตามที่ได้จัดเรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตาม (มาตรา 82 (2))
ส่วนจำนวนตำแหน่งว่างที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน (มาตรา 82 (4) และมาตรา 82 วรรคสอง)
ในการนี้เคยมีกรณีที่มีผู้ร้องทุกข์ และก.พ.ค.ตร.ได้วินิจฉัยว่าผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งหากมีอาวุโสต่ำกว่าต้องมีความรู้ความสามารถ ประวัติรับราชการ มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าผู้ที่มีอาวุโสมากกว่าในแต่ละคนนั้นๆ อย่างไร (ตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เรื่องดำที่ รท. 48 / 2566 เรื่องแดงที่ รท. 240 / 2567และเรื่องดำที่ รท.49/ 2566 เรื่องแดงที่ รท. 209 / 2567)
2.การแต่งตั้ง “ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.” ให้ผบ.ตร.คัดเลือกเสนอ ก.ตร.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (มาตรา 78 (2))
3. การแต่งตั้ง“ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.และผบช.”ต้องคัดเลือกรายชื่อผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นทุกคนในภาพรวม ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับตร. ซึ่งประกอบด้วย ผบ.ตร. จตช. รองผบ.ตร.ทุกคนและผู้แทน สง.ก.พ.เสนอแนะ (มาตรา 78 (3))
คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสมในการคัดเลือก(มาตรา 81(1)(ก)) และตามคำวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท.48/ 2566 เรื่องแดงที่ รท.240 / 2567 )
4.การแต่งตั้ง“ตำแหน่งรอง ผบช. และผบก.”พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 บัญญัติให้ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ให้ผบช.เสนอโดยนำข้อมูลการเสนอการแต่งตั้ง ที่ได้จากการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับบช. ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงาน(ผบช.)และรองหัวหน้าหน่วยงาน(รองผบช. )ของแต่ละบช.นั้นที่กำหนดในข้อกำหนด ก.ตร. ข้อ 37 (ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น)
ขั้นตอนที่ 2 ผบ.ตร.นำข้อมูลผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นทุกคนในภาพรวม เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับตร. (มาตรา 78 (3)และมาตรา 81 (1)(ก)) พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมแล้ว เสนอแนะต่อ ผบ.ตร.
และให้ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับตร.เสนอแนะ
โดยต้องนำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับบช.ที่มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามขั้นตอนที่ 1. มาประกอบการพิจารณาด้วย
หากมีความเห็นต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการให้ชี้แจงต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับตร. ก่อนเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท.48/ 2566 เรื่องแดงที่ รท. 240 / 2567)
5.ในกรณีที่มีการร้องทุกข์เรื่องการแต่งตั้งตามมาตรา 87 ที่ผ่านมา ก.พ.ค.ตร.จะแสวงหาข้อเท็จจริง โดยเรียกเอกสารและพิจารณาจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและรายงานการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นหลัก รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องในการประชุม (ตามแนวคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท. 48 / 2566 เรื่องแดงที่ รท. 240 / 2567 และเรื่องดำที่ รท.49 / 2566 เรื่องแดงที่ รท.209 / 257)
6.หากในที่ประชุม ก.ตร. ไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจทำให้ผบ.ตร.พิจารณาเปลี่ยนแปลงรายชื่อตัวบุคคลจากที่คณะกรรมการแต่งตั้งระดับ ตร.พิจารณาเสนอไว้แล้ว จะต้องย้อนนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งระดับ ตร. และ บช. พิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องพิจารณาในรูปของคณะกรรมการในระดับ ตร. และ บช. เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 78 (4) (ตามแนวคำวินิจฉัยของก.พ.ค.ตร.เรื่องดำที่ รท.49/ 2566 เรื่องแดงที่ รท.209 / 2567)
เว้นแต่ในการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับตร.และบช.มีการพิจารณาและมีข้อมูลเสนอแนะไว้ครบถ้วนตามประเด็นที่พิจารณาครบทุกรายที่พร้อมให้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้
7. อนึ่งนอกเหนือจากการวางแนวทางการแต่งตั้งตามคำวินิจฉัย ของ ก.พ.ค.ตร.ดังกล่าว ยังพบว่า มีข้อสังเกตเพิ่มเติมของ ก.พ.ค.ตร.บางท่านไว้ในความเห็นแย้งประกอบคำวินิจฉัย โดยเห็นว่า “การที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เป็นกรณีที่ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนอีก ตามนัยมาตรา 87 วรรคสี่ด้วย
ที่มา : MgrOnline