ตลาดน้ำมันรำข้าวระอุโตลดลง “คิง”แตกไลน์เฮลท์แอนด์บิวตี้

เผยแพร่ : 14 พ.ย. 2567 15:46:04
X
• ตลาดน้ำมันรำข้าวแข่งขันรุนแรงขึ้น เพราะมีผู้เล่นมากขึ้น แต่แนวโน้มการเติบโตช้าลง
• คิง เป็นผู้นำตลาดน้ำมันรำข้าว เล็งเจาะกลุ่มรักสุขภาพ
• คิง ลงทุน 1,500 ล้านบาท สร้างโรงงานใหม่ เพิ่มกำลังการผลิต
• คิง ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม และหวังยอดขาย 10,000 ล้านบาทในปี 2573

ผู้จัดการรายวัน 360- ตลาดน้ำมันรำข้าวจากนี้แข่งดุ เหตุผู้เล่นมีเยอะ แต่ตลาดแนวโน้มโตลดลง "คิง" เบอร์ 1 น้ำมันรำข้าว เดินเกมส์เจาะกลุ่มรักสุขภาพ ทุ่ม 1,500 ล้าน สร้างโรงงานเพิ่มกำลังการผลิต หวังดันรายได้เพิ่ม ปักธงสู่ยอดขาย 10,000 ล้านบาทในปี 73

นายประทีป สันติวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง เปิดเผยว่า ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 48 ในปี 2568 ที่จะถึงนี้ กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยยึดถือเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ชูจุดเด่น น้ำมันรำข้าวคิง น้ำมันรำข้าวระดับพรีเมียมที่แตกต่างด้วยคุณภาพ อุดมด้วยคุณค่าวิตามินและสารอาหารตามธรรมชาติ ผลิตจากรำข้าวไทย 100% จึงปลอด GMOs ตอบโจทย์การทำอาหารของคนรักสุขภาพทุกไลฟ์สไตล์

“น้ำมันรำข้าวคิง ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ มีการสื่อสารให้ความรู้ และประโยชน์จากน้ำมันรำข้าว รวมถึงจัดทำแคมเปญที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพราะมองว่าจากนี้ตลาดน้ำมันรำข้าวจะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ทั้งในเรื่องคุณภาพและราคา จากผู้เล่นที่มีกว่า 18 แบรนด์ หรือก่อนโควิดตลาดมีมูลค่า 400 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1,100 ล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่า 10%ในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา แต่จากนี้เชื่อว่าตลาดยังโตอยู่แต่โตน้อยลง ผู้เล่นในตลาดจึงต้องแข่งขันกันมากขึ้น” นายประทีป กล่าว

การดำเนินงานหลังจากนี้มีการวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงแข็งแกร่งขึ้น และสร้างการเติบโตทางธุรกิจหลักๆ ด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของคู่ค้าและรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น 2.การลงทุนทางด้าน R&D และ 3.การวิจัยตลาดเพื่อพัฒนาสินค้าใหม่สำหรับตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพ และการให้ความสำคัญกับการสื่อสารทางการตลาดที่ต้องเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ

สำหรับแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลังจากนี้จะเน้นใน 3 กลุ่ม คือ 1.ตลาดเพ็ทฟู้ด เป็นการนำกาก สารสกัดจากวัตถุดิบ จากการผลิตน้ำมันรำข้าวไปใช้ได้ 2.อุตสาหกรรมอาหาร ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากน้ำมันรำข้าว เช่น เครื่องดื่มรำข้าวผสมธัญญาหาร ตราไรซ์ลี่ และ 3.การพัฒนาน้ำมันรำข้าวเกรดพิเศษ สำหรับ ตลาดต่างประเทศ อีกทั้งยังมองถึงกลุ่มยา และเครื่องสำอาง ก็เป็นโอกาสที่น้ำมันรำข้าวจะเข้าไปทำตลาดได้ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนคิดค้น วิจัย และพัฒนา

ล่าสุดบริษัทพร้อมลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท สร้างโรงงาน จ.นครสวรรค์ เพื่อจะขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบให้ดีเลิศ อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักรให้กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงทันสมัยด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันรำข้าว และยังมีงบในการพัฒนาด้าน ESG เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดน้ำมันรำมันรำข้าวอีกด้วย

จากปัจจุบันกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง มีโรงงานอยู่ 3 แห่ง คือ สมุทรปราการ อยุธยา และนครราชสีมา โดยโรงงานสกัดมีกำลังการผลิตรวมกว่า 1,550 ตันรำข้าว/วัน ทำให้สามารถผลิตน้ำมันรำข้าวดิบได้มากถึง 88,000 ตัน/ปี ส่วนโรงกลั่นมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 350 ตันน้ำมันดิบ/วัน สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูป ถึง 60,000 ตัน/ปี

นายประทีป กล่าวด้วยว่า ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราลงทุนในเรื่องของการสื่อสารการตลาดไปมากกว่า 270 ล้านบาท และมีการปรับกลยุทธ์การสื่อสารอยู่ตลอดเวลาให้เข้ากับทุกยุคสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เน้นการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ด้วยความตั้งใจนี้ทำให้เราอยู่ในตลาดของน้ำมันรำข้าว และเป็นอันดับ 1 มาได้ตลอดมา โดยตลอด 47 ปีกับความสำเร็จของกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง เป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจของเราที่สามารถนำคุณค่าของนำเข้าไทยมาสร้างสรรค์และพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ภายใต้การดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล เราเชื่อมั่นว่าความทุ่มเทอย่างไม่หยุดยั้งประกอบกับการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเราจะเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงเติบโตอย่างยั่งยืนและมุ่งสู่ยอดขาย 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2573

ส่วนสิ้นปีนี้บริษัทคาดการณ์ว่าจะปิดรายได้ที่ 8,300 ล้านบาท มาจาก 2 ส่วนหลัก คือ 1.ฟู้ดและน้ำมันรำข้าว 35% (ในประเทศ 64% ส่งออก 36%) 2.อาหารสัตว์ 65% ปัจจุบันตลาดรวมน้ำมันพืช มีมูลค่า 25,000-26,000 ล้านบาท เติบโตน้อยไม่เกิน 5% เพราะครัวเรือนไม่ได้ทำอาหารมากขึ้น ซึ่งในตลาดดังกล่าว กลุ่มใหญ่เป็น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง ส่วนน้ำมันรำข้าวมีมูลค่าเพียง 1,100 ล้านบาท โดยคิงมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 หรือมีแชร์สูงถึง 85%.



ที่มา : MgrOnline