เกาะติดสถานการณ์น้ำปลายฝนต้นหนาวก้าวสู่ฤดูแล้ง 2567/68 “กักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด”
เผยแพร่ : 14 พ.ย. 2567 11:45:52
• ร่องมรสุมพาดผ่านตอนเหนือ: ส่งผลให้มีฝนตกในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ
• ไต้ฝุ่นยางิ: ส่งผลให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่
• พายุโซนร้อนซูลิก: ส่งผลให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่
• ประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว: กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
ในช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม 2567 ก่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยได้รับอิทธิพล ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณตอนเหนือ และอิทธิพลจากไต้ฝุ่นยางิ พายุโซนร้อนซูลิก ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือมีฝนตกหนาแน่น และในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักในบางพื้นที่อีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของปริมาณฝนทั้งประเทศในปีนี้จนถึงปัจจุบันสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 21 เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และมีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านน้ำของประเทศ ได้บูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งได้ใช้โอกาสในช่วงปลายฤดูฝน และในช่วงต้นฤดูหนาวท่ี่ยังมีฝนตกกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 470แห่งทั่วประเทศล่าสุด ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม63,623 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 83 ของปริมาณน้ำที่กักเก็บ มากกว่าปี 2566 จำนวน 2,022 ล้านลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 39,679 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 76 ของปริมาณน้ำใช้การได้
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฤดูฝนที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการตาม 10มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้ง ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นทีี่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีการวางแผนใช้ระบบชลประทานไม่ว่าจะเป็นลำน้ำ คลอง และอาคารชลประทานในการบริหารจัดการและกักเก็บน้ำ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เช่น ฝั่งตะวันออกได้ใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.)มโนรมย์ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ ในการบริหารจัดการและกักเก็บน้ำ ส่วนฝั่งตะวันตก ได้ใช้ ปตร. มะขามเฒ่า-อู่ทอง ปตร.พลเทพ ปตร.บรมธาตุ คลองะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองบางบาล ในการบริหารจัดการและกักเก็บน้ำ เป็นต้น
สำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานได้บริหารจัดการโดยกระจายน้ำจากด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งในอัตราที่เหมาะสม พร้อมทั้งทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันไดในอัตราไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด
ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริิกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หลังจากสิ้นฤดูฝนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำรวมกัน 21,765 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของปริมาณการกักเก็บ โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 15,060 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83ของปริมาณน้ำกักเก็บ ซึ่งกรมชลประทานจะนำปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนดังกล่าวมาบริหารจัดการร่วมกับปริมาณน้ำต้นทุนมีอยู่ในลำน้ำ และคลองต่างๆที่เก็บกักไว้ มาวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 ให้เพียงพอกับความต้องการในทุกๆด้าน ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว อย่างแน่นอน รวมทั้งยังจะสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 อีกด้วย
“กรมชลประทานมีแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 แบบ 6 เดือน บวก 3 เดือน คือ 6 เดือนในฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่1พฤศจิกายน2567 - 30เมษายน2568 และ 3เดือนช่วงต้นฤดูฝน คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม2568 ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอใช้ในทุกภาคส่วนตลอดฤดแล้งปี2567/68 และมีน้ำสำรองในการทำนาปีช่วงต้นฤดูฝน ปี2568 อย่างแน่นอน แม้จะเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงหรือมาช้าก็ตาม รวมทั้งยังจะมีน้ำสำรองเพียงพอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำท่ีต้องปรับปฏิทินการปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น” ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวยืนยัน
อีกพื้นที่หนึ่งท่ี่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ปีนี้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ EEC จำนวน 16 แห่ง ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวมกัน 1,225 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณการกักเก็บ และในฤดูฝนที่ผ่านมา กรมชลประทานจะดำเนินการเก็บกักน้ำไว้เต็มศักยภาพความจุในช่วงท้ายฤดูตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กรมชลประทานจะใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในการผันน้ำเชื่อมโยง 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักในการผันน้ำไปกลุ่มอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-คลองใหญ่-ดอกกราย ล่่าสุด ณ วันที่ 13พฤศจิกายน 2567มีปริมาณน้ำคือ 260 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ95 ของความจุ ในขณะที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญอีกแห่งในพื้นที่EECที่มีโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงกับอ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ขณะนี้มีปริมาณ107 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 97 ของปริมาณการกักเก็บ และยังมีระบบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิตมาเติมให้เต็มศักยภาพอีกด้วย
ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 พื้นที่ EEC จะมีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อทุกกิจกรรมพื้นฐาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างแน่นอน และยังมีเพียงพอสำรองไว้ ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 หากเกิดสภาวะฝนทิ้ง ซึ่่งกรมชลประทานจะติดตาม และบูรณาการบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังมีฝนตกต่อเนื่องสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งของภาคใต้ ล่าสุด ณ วันที่ 13พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำรวมกัน 5,450ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของปริมาณการกักเก็บ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,744 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้ใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาล โดยปรับให้วิกฤตกลายเป็นโอกาสที่จะเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำมีเพียงพอกับความต้องการ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศ
ที่มา : MgrOnline