คดีตากใบ ลามจากยุคพ่อ สู่ยุคลูก!?

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 23:48:20
X
• คดีตากใบ จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม นี้
• ความกังวล เกิดขึ้นว่า คดีตากใบอาจเป็น "เงื่อนไข" สำคัญที่นำไปสู่ความไม่สงบในพื้นที่
• ยังไม่มีการสรุป ว่าการหมดอายุความของคดีตากใบจะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ในพื้นที่
หมายเหตุ: เนื้อหาที่คุณให้มานั้นสั้นมาก จึงสรุปได้เพียงเท่านี้
ทักษิณ ชินวัตร - แพทองธาร ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

หากนับจากวันนี้ 23 ตุลาคม “คดีตากใบ” จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ แต่ขณะเดียวกันกำลังจะกลายเป็นที่จับตามองกันว่าจะ “เงื่อนไข” สำคัญให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือไม่
หากย้อนอดีต เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจำนวน 6 คน และบานปลาย มีการสลายการชุมนุมในที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะระหว่างการนำไปควบคุมตัวจนมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วจำนวน 85 ราย เหตุการณ์ครั้งนั้น ได้สร้างบาดแผลในใจทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคนไทยหลายคน

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายผิดพลาด ในยุครัฐบาลที่นำโดย นายทักษิณ ชินวัตร มีการปราบปรามอย่างเข้มงวด มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากมาย มีวลี “โจรกระจอก” มีเหตุการณ์ “ปล้นปืน” ในค่ายทหาร และเหตุการณ์ที่ตากใบ ก็ล้วนต่อเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวนั่นเอง

สำหรับผู้ต้องหาและตกเป็นจำเลยในคดีตากใบ โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาศาลจังหวัดนราธิวาส ได้ออกหมายจับจำเลยจำนวน 6 คน และออกหมายเรียกอีก 1 คน โดยทั้งหมดล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในอดีตที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมจำเลยทั้งหมดมาดำเนินคดีได้สักรายเดียว

อีกทั้งในรายของจำเลยที่เคยเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็หลบหนีจนไม่สามารถตามตัวได้ และต่อมาได้ลาออกจากส.ส.และสมาชิกพรรค

แน่นอนว่าการหลบหนีของจำเลยในคดีดังกล่าว ที่ทั้งหมดล้วนเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูง หลังจากเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 67 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาตากใบ ในข้อหา ฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ดังนั้นถูกมองว่าการหลบหนีเจตนาให้คดีหมดอายุความ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงสองวันเท่านั้น (หมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคม )

ขณะเดียวกันก่อนหน้านั้น ทางศาลจังหวัดปัตตานี และนราธิวาสได้เคยพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไปแล้ว

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการติดตามตัวผู้ต้องหาในคดีตากใบ ว่า เรื่องนี้เชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีคำพิพากษาจากศาลจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส ในเรื่องการชดใช้ค่าเสียหาย แต่หลังจากนั้นมีประชาชนยื่นฟ้องศาลให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา รวมถึงมีกรณีที่อัยการก็ส่งฟ้องคดีต่อศาล รวมแล้วในคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 14 คน จนนำไปสู่การออกหมายจับในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ตนเองได้เดินทางไปที่ตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อสอบถาม และสั่งการให้เร่งรัดดำเนินการสืบสวนติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับภายในอายุความ พร้อมออกวิทยุราชการกำชับให้ทุกหน่วยติดตามผู้ต้องหาที่มีภูมิลำเนา และถิ่นที่อยู่ โดยการปฏิบัติให้แยกแยะออกเป็น 2 ส่วน คือด้านธุรการ ที่ได้รับหมายจับมา และลงในระบบ Crime รวมถึงมีการสืบจับ และเวียนหนังสือการสืบสวนติดตาม และประสานกับกองการต่างประเทศ เพื่อให้ออกหมายแดง ตามระเบียบปฏิบัติ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้สั่งการด้วยหนังสือให้ติดตามจับกุมรวมแล้ว 29 ครั้ง ในการเข้าตรวจค้น และประสานสื่อมวลชนในการเข้าค้น รวมถึงตำรวจต้องมีกล้อง และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งนอกจากตรวจค้นแล้ว ยังสั่งการให้มีการเฝ้าจุด และติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อระมัดระวังการหลบหนีออกนอกประเทศ กว่า 180 ครั้ง เป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ และจับกุมผู้ต้องหาให้ได้ภายในอายุความ

“หากประชาชนคนไหนมีเบาะแส ให้แจ้งไปยังพื้นที่ เราพร้อมที่จะจับกุมทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราได้ทำตามหน้าที่ที่เข้มข้น และจริงจัง ไม่ได้ปล่อยผ่าน ซึ่งจากข้อมูลทราบว่ามีบางคนที่หลบหนีออกนอกประเทศ ก่อนจะมีการออกหมายจับ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าหลบหนีออกนอกประเทศ และยังเฝ้าติดตามอยู่ทุกวิถีทาง โดยภายในอายุความเรายังสืบสวนติดตามอย่างเข้มข้น" ผบ.ตร.กล่าว

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเวลานี้ยังมีท่าทีวางเฉยกับข้อเสนอให้มีการออกพระราชกำหนด เพื่อขยายอายุความออกไป หลังจากฟังจากปากของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ยังไม่ชัดเจน และหากดำเนินการในตอนนี้ ก็ไม่น่าจะทันการณ์แล้ว

อย่างไรก็ดี เวลานี้เหมือนกับว่ารอให้คดีหมดอายุความในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า อีกทั้งผู้ที่ตกเป็นจำเลย ล้วนเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง และมีอายุมาก ผ่านพ้นวัยเกษียณอายุราชการกันไปแล้วเกือบทั้งสิ้น บางคนเสียชีวิตไปแล้ว

แต่ถึงอย่างไรย่อมมีผลทางการเมืองตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่อมมีผลต่อเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน เพราะย่อมเป็น “เงื่อนไข” ชั้นดีให้กับผู้ก่อความไม่สงบนำไปขยายผล ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวบางอย่างที่ผิดปกติขึ้นมาแล้ว

แม้ว่าพิจารณากันในภาพรวมแล้ว คดีตากใบเหมือนกับพยายามยื้อเวลาให้หมดอายุความที่เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันจากปัญหาดังกล่าว ได้สร้างบาดแผลเรื้อรังให้เกิดขึ้นไปอีกนาน และยังเสี่ยงให้ปัญหากลับมาปะทุรุนแรงขึ้นมาได้อีก เพราะ “เงื่อนไข” ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง และที่สำคัญหากบอกว่า “เริ่มต้น” ในยุคพ่อ คือ ยุคของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และเวียนกลับมาอีกครั้งในยุคลูก นั่นคือในยุคที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางการเมืองในพื้นที่สำหรับภาคใต้ และจังหวัดชายแดนใต้ ที่พรรคเพื่อไทยกำลังถูกไล่ต้อนอย่างหนัก จากเดิมแทบไม่มีที่ยืนอยู่แล้ว ยิ่งหนักหนาสาหัสกว่าเดิม แต่นั่นยังไม่เท่ากับทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจนยากจะคาดเดาได้ง่าย!!

ที่มา : MgrOnline