2,000 สายป่วน/เดือน!! เดือดร้อน “สายด่วน” ตำรวจ-กู้ภัยวิ่งวุ่น เพราะ “เด็กเลี้ยงแกะ”

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 21:22:59
X
1. โทรแจ้งเหตุปลอม กลายเป็นปัญหาใหญ่ในไทย ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนทั่วทุกภูมิภาค
2. เจ้าหน้าที่ ถูกเรียกออกไปตรวจสอบเหตุการณ์ปลอมๆ ทำให้สูญเสียเวลาและทรัพยากร
3. ประชาชน ที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ได้รับผลกระทบจากการตอบสนองที่ล่าช้า
4. ปัญหา นี้แก้ไขไม่ได้ และเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธความช่วยเหลือไม่ได้
5. การโทรแกล้ง เปรียบเสมือน "เด็กเลี้ยงแกะ" ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของการแจ้งเหตุจริงลดลง

จาก “โทรแจ้งเหตุ” กลายเป็น “โทรแกล้ง” ทำเอาเดือดร้อนทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ปัญหาที่แก้ไม่หาย ปฏิเสธความช่วยเหลือไม่ได้ ต่อให้เป็น “เด็กเลี้ยงแกะ”

“สายด่วน” เป็น“สายป่วน”

เคสล่าสุดที่เพิ่งถูกป่วนไป คือเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุเด็ก 2 คน ติดอยู่ในลิฟต์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครนายก เจ้าหน้าที่จึงรีบประสานงาน ทั้ง “ตำรวจสายตรวจ” ทั้ง “กู้ภัย”

ปรากฏว่าพอไปถึง “ตรวจสอบลิฟต์ทุกตัว” กลับ “ไม่พบใคร” ลองติดต่อกลับไปใหม่ พบว่าปลายสายเป็นเพียง “เด็กอายุ 12” ที่ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า ตัวเองกับน้องติดอยู่ในลิฟต์ชั้น 2

แต่เจ้าหน้าจับสังเกตได้ว่า ขณะคุยปลายสาย ไม่มีการอาการตกใจ สุดท้ายเลยมั่นใจว่าเป็น “การโทรแกล้ง” จึงขอหยุดการช่วยเหลือ แล้วคิดเสียว่าที่เดินทางมา เป็นการซ้อมแผนเผชิญเหตุก็แล้วกัน


การ “โทรป่วน” สายด่วน-สายฉุกเฉิน แบบนี้ ไม่มีใครอยากใช้คำว่า “เรื่องปกติ” แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันเกิดขึ้นบ่อยจริงๆ ทั้งที่เป็นข่าว และไม่ได้เป็นข่าวอีกหลายกรณี

เชื่อไหมว่า ในวันวันนึง เจ้าหน้าที่ต้องปวดหัวจาก “สายป่วน” พวกนี้มากแค่ไหน “ป้อม” ประกรชัย ลี่แตงเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุชำนาญการ หัวหน้างานการฝึกอบรม กองกำกับการศูนย์รวมข่าว (191) สะท้อนเรื่องนี้ไว้ให้

“ต่อวันเนี่ยนะครับ สายเข้าที่ 191 รับแจ้งเหตุ ประมาณ 5,000-6,000 สายโดยประมาณ แล้วก็จะมีสายโทร.เล่น สายก่อกวน หรือเสียงเงียบเนี่ย อยู่ที่ 2,000-2,500 ต่อวันโดยประมาณครับ”


                                             { “ป้อม” เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุ 191 }
เรียกได้ว่าแทบจะ “ครึ่งต่อครึ่ง” เลยทีเดียว สำหรับอัตราส่วน “การโทรแกล้ง-แจ้งเหตุเท็จ” ซึ่งมีหลายรูปแบบ มาจากสาเหตุทั้ง ”ความคะนอง” และ “ภาวะทางจิต” ของบางคน

“อย่างที่เราเจอล่าสุดเนี่ย เป็นเด็กวัยรุ่นโทร.แจ้งเหตุเพลิงไหม้เป็นประจำ จุดเดียวทุกวัน วันละ 3-4 สาย”

และเรื่องที่น่าตกใจปนน่าหัวแทนเจ้าหน้าที่ คือบางเบอร์โทร.มาป่วนเจ้าหน้าที่ถึง “2,000 สายในเดือนเดียว” และหลังจากตักเตือนไป ก็จะหายไปสักพัก แล้วก็กลับมาใหม่

“มีมากกว่านี้อีกนะครับ บางเบอร์ มี 7,000-8,000 สายด้วยนะครับ ใน 1เดือน”

ถามว่ารับมือกับเรื่องนี้ยังไง? คนหน้างานรายเดิมอธิบายว่า ถ้าเป็น “สายเงียบ” เจ้าหน้าที่จะเช็กดูก่อนว่า มีคนอยู่ปลายสายหรือเปล่า ถ้าไม่มีการ “แจ้งเหตุ” หรือ “ตอบโต้” ใดๆ ในช่วง “20 วินาที” ก็จะ “ขออนุญาตวางสาย”

แต่ถ้าเป็นการแจ้งเหตุที่ “สามารถระบุสถานที่เกิดเหตุได้” ก็จะประสานงานให้“ตำรวจ”หรือ“กู้ภัย” ในพื้นที่เข้าไปดู ไม่ว่าสายนั้นจะ “โทร.แกล้ง” หรือ “โทร.จริง”

“เราไม่ได้ Clear-Cut ว่า บุคคลนั้นจะเป็นคนวิกลจริต หรือไม่วิกลจริต จะแจ้งปลอม หรือไม่ปลอม แต่ถ้าแจ้งเป็นเหตุ ที่ระบุสถานที่ที่เกิดเหตุได้ เราจะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหา”


“เสียโอกาส” ผู้ประสบเหตุจริง

“เพราะเขาอาจโดนทำร้ายจริงก็ได้ โดนทำร้ายรางกาย โดนลักทรัพย์ ชิงทรัพย์จริง ดังนั้น เราก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่ทุกคนไปดูแลครับ”

ตัวแทนเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุ 191 อธิบายเหตุผลเบื้องหลังว่า เหตุใดถึงแม้จะรู้ว่าเป็นการโทร.แกล้ง แต่สุดท้ายก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ เพราะอาจเกิดเหตุขึ้นจริงก็ได้ “เราไม่มีทางรู้”

ปัญหาของการโทร.ป่วนแบบนี้ ไม่ใช่เรื่อง “รอสายนาน” เพราะเบอร์ 191 มีถึง 60 คู่สาย ที่รองรับการโทร.แจ้งเหตุจากประชาชน “รอสายไม่เกิน 3 วินาที” ก็จะมีเจ้าหน้าที่มารับสายทันที แต่ปัญหาจริงๆ คือ...
“มันเสียโอกาส คนที่เกิดเหตุจริงมากกว่าครับ”


ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าตำรวจออกไปตรวจสอบ แล้วเป็นการโทร.แกล้ง แต่ช่วงเวลานั้นในพื้นที่เดียวกัน อีกจุดนึงเกิดเหตุร้ายขึ้นจริงๆ คนที่ประสบเหตุก็ต้องเสียเวลารอเจ้าหน้าที่นานกว่าปกติ จากการที่ตำรวจต้องวิ่งไปตรวจเหตุปลอมก่อนหน้า

เพราะใน 1 พื้นที่ ชุดสายตรวจจะเป็นชุดเดียวกัน โชคยังดีที่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีเหตุการณ์สูญเสีย จากการที่เจ้าหน้าไปช่วยเหลือคนไม่ทัน เพราะโดนสายป่วนพวกนี้โทร.แกล้ง

และหลายครั้งมันก็สร้างความวุ่นวาย ยกตัวอย่างเวลาเกิดเหตุใหญ่ๆ เช่น ไฟไหม้ หรือเหตุกราดยิง ประชาชนจะโทร.เข้ามาเยอะมาก เพราะทุกคนต้องการความช่วยเหลือ ถ้ามาเจอกับ “สายป่วน” พวกนี้อีก การทำงานก็จะวุ่นวายเข้าไปใหญ่

“แต่ถามว่า 60 คู่สายของเรา สแตนด์บายรอพอไหม เพียงพอสำหรับการรับแจ้งครับ”


“โทร.แกล้ง” จะแก้ยังไง? ในฐานะคนหน้างาน “ป้อม” บอกเราว่า “คงแก้ไม่ได้” อย่างเคสเบอร์ที่โทร.มาป่วน 191 ซ้ำๆ จะ “ไม่รับสาย” หรือ “บล็อกเบอร์” ก็ไม่สามารถทำได้

เพราะถ้าหากเบอร์นั้น ถูกเปลี่ยนเจ้าของไป การไม่รับสาย หรือปิดกั้นเบอร์นั้น ก็เท่ากับว่าคนคนนั้นจะ “ไม่ได้รับการช่วยเหลือ” จากเจ้าหน้าที่อีกเลย

เอาจริงๆ การโทรก่อกวนเจ้าหน้าที่แบบนี้ “มีความผิด” ถือเป็น “การก่อกวนการทำงานของตำรวจ” โทษจะอยู่ที่ “จำคุกไม่เกิน 1 เดือน” หรือ “ปรับไม่เกิน 10,000 บาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ

หรืออาจจะโดน “มาตรา 137” ฐานแจ้งความเท็จ โทษ “จำคุกไม่เกิน 6 เดือน” “ปรับไม่เกิน 10,000 บาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมากจะไม่มีการแจ้งความเอาผิด คือเป็นการตักเตือนและพูดคุยเสียมากกว่า

แม้จะไม่ค่อยถูกดำเนินคดี แต่ถ้าเป็นไปได้ อยากให้สายป่วนคิดนิดนึงว่า เวลาโทร.ไปก่อกวนด้วยความคะนองนั้น มันมีคนที่รอความช่วยเหลืออยู่จริงๆ ซึ่งพวกเขาอาจเดือดร้อนหนักกว่าเก่า เพราะเจ้าหน้าที่ต้องมาเสียเวลา ไปกับความสนุกบนความทุกข์ของคนอื่น


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



ที่มา : MgrOnline