"มท.หนู" บินเขมร พฤหัสฯนี้ ถกร่วม 7 ผู้ว่าฯสองประเทศ กระชับสัมพันธ์ชายแดน ไร้แววถกพื้นที่ทับซ้อน หลัง "บัวแก้ว" ประเดิมท่องเที่ยว "อิ๊งค์"จ่อเยือน

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 18:01:50
X
• มหาดไทยไทย (บัวแก้ว) จะประเดิม 2 นโยบายร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา ก่อนที่แพทองธารจะเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะนายกรัฐมนตรี
• นโยบายหลักเน้นความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นตลอดแนวชายแดน และนโยบายท่องเที่ยวไร้รอยต่อ
• มท.บัวแก้ว จะเดินทางไปกัมพูชาในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อหารือร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา

"มหาดไทย-บัวแก้ว" ประเดิม 2 นโยบาย ประสานร่วมรัฐบาลกัมพูชา ก่อน "แพทองธาร" เดินทางเยือนเป็นทางการ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เร็ว ๆนี้ ชูความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นตลอดชายแดน พ่วงนโยบายท่องเที่ยวไร้รอยต่อ "มท.หนู" บินเขมร พฤหัสฯนี้ ถก "มท.1 เขมร" พร้อม 7 ผู้ว่าฯ จังหวัดชายแดนอีสาน-ตะวันออก มุ่งกระชับสัมพันธ์จังหวัดชายแดน 2 ประเทศ ไร้แววหารือประเด็นพื้นที่ทับซ้อน ส่วนคณะที่ปรึกษา กต. เยือนนำร่องเชื่อมโยงท่องเที่ยวไร้รอยต่อ "6 ประเทศ 1 เป้าหมาย"

วันนี้ (22 ต.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงควาคืบหน้าในการประชุมร่วมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 ในวันที่ 24 ต.ค. นี้ ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย และ ฯพณฯ อภิสันติบัณฑิต ซอร์ ซกคา (H.E. Mr. Abhisantibindit Sar Sokha) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วม

นอกจากมหาดไทย จะมี กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทัพไทย กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

และคณะผู้บริหารจากจังหวัดชายแดนไทย - กัมพูชา จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว สุรินทร์ และอุบลราชธานี

ล่าสุด ฝ่ายเลขานุการร่วม ที่มีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าคณะเลขานุการฝ่ายไทย เป็นประธานการประชุม

ร่วมกับ ฯพณฯ ซัว ปรารถนา (H.E. Mr. Suos Prathna) อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้สรุปผลการหารือเบื้อง ณ โรงแรม Sokha Phnom Penh Hotel & Residence กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ก่อนการประชุมหลักของ 2 รัฐมนตรี จะเริ่มขึ้น ในวันที่ 24 ต.ค. ได้มีการประชุมย่อยชุดต่าง ๆ และได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ (22 ต.ค. ) ซึ่งคณะเลขานุการร่วมไทย - กัมพูชา ได้สรุปการจัดทำ "ร่างบันทึกการประชุมและการเตรียมการด้านพิธีการ"

"เน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างท้องถิ่นของกัมพูชา และไทยให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม"

ขณะที่ ในวันพรุ่งนี้ ( 23 ต.ค.) จะมีการประชุมหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูง (Senior Officials Meeting Agenda หรือ SOM) โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย

และมี ฯพณฯ บุน ฮุน (H.E. Mr. Bun Honn) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายกัมพูชา เป็นประธานการประชุมร่วมฝ่ายกัมพูชา

วันที่ 24 ต.ค. จะเป็นการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 โดย มี 2 รมว.มหาดไทย 2 ประเทศ เป็นสักขีพยาน

อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ ไม่มีการยืนยันว่าจะมีการหารือ ในประเด็น พื้นที่ทับซ้อน ตามแนวทางที่มีการเปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดทำข้อมูลให้มีการพิจารณาบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนปี 2544 (MOU 2544) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนของรัฐบาล จากความต้องการเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซที่กำลังลดลง

โดยกรณีนี้ สื่อต่างประเทศ อ้างว่า รัฐบาล ‘แพทองธาร’ จะเริ่มเจรจากับกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่มีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์

มีรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยว่า นายดุสิต เมนะพันธุ์ ที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศ นำคณะ หารือทวิภาคีร่วมกับนายฮวด ฮะ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว ราชอาณาจักรกัมพูชา เน้นการหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ทั้งการข้ามแดน และการท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ

หลังรัฐบาลไทยได้เห็นชอบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจผ่านนโยบาย "6 ประเทศ, 1 เป้าหมาย" หรือ "6 Countries, 1 Destination" ประกอบด้วย บรูไนฯ, กัมพูชา, สปป.ลาว, มาเลเซีย, เวียดนาม และไทย โดยจะนำร่องการเจรจานโยบายกับกัมพูชาก่อน ก่อนที่จะขยายความร่วมมือไปสู่ประเทศอื่นๆ ต่อไป

"ทีมที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ได้เร่งดำเนินการเสนอแผน และกำหนดการต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากรมว.ต่างประเทศไทย เพื่อแสดงความพร้อมในการรับ และนักท่องเที่ยว เชื่อมโยงไทย-กัมพูชาระหว่างกัน รวมถึงขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองต่าง ๆ"

มีข้อเสนอให้มีการจัดทำประเทศ และดินแดนเป้าหมาย ที่ทั้งไทยและกัมพูชา เห็นว่ามีศักยภาพ และจะได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา และใช้สิทธิ์ Visa on Arrival (VOA) ของทั้ง 2 ประเทศ

รวมถึง Fast Lanes และความเป็นไปได้ ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านนโยบาย

ขณะที่การหารือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อสร้างอัตลักษณ์จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเดียวกัน (Single Tourism Destination) ระหว่าง 6 ประเทศ และร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

และสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ผ่านการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก, การจัดทำปฏิทินท่องเที่ยวในภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงเทศกาลสำคัญระหว่างกัน

"อาทิ เทศกาลปีใหม่ ไทย-ลาว-ขแมร์ ตรุษจีน, การจัดกิจกรรมเพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ อาทิ ส่วนลดค่าโรงแรม และช่องทางพิเศษในการเข้าเมือง เป็นต้น"

รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจการท่องเที่ยวในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ยังหารือถึงการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม เพื่อขยายความเชื่อมโยงด้านคมนาคม และการเพิ่มตัวเลือกในการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ อาทิ การเพิ่มเที่ยวบินระหว่าง 6 ประเทศ

โดยขยายเส้นทางสู่เมืองที่น่าสนใจ ซึ่งเบื้องต้นการบินไทย มีโครงการเพิ่มเที่ยวบิน มายังกัมพูชา ที่จังหวัดเสียมราฐแล้ว

รวมถึงการเสนอเส้นทางศักยภาพเชื่อมต่อการท่องเที่ยวทางน้ำ และทางราง อาทิ เส้นทางชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกบ โดยสามารถผลักดันการท่องเที่ยวทางน้ำจากตราด-สีหนุวิวล์-กัมปอต ให้มาทดแทนการท่องเที่ยวทางบกได้

ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ได้เห็นพ้อง นโยบาย "6 ประเทศ, 1 เป้าหมาย" ของไทยในครั้งนี้ และได้รับแผนนโยบาย และกำหนดการต่าง ๆ ของฝ่ายไทย ไปหารือและพิจารณาดำเนินการ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากรของกัมพูชา

ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีกัมพูชา พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยสนับสนุนนให้นโยบายนี้ ประสบความสำเร็จ และสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อนที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ในเร็วๆนี้.

ที่มา : MgrOnline