อัยการแจงกมธ.คดีตากใบหมดอายุความฟ้องต่อไม่ได้ "สุณัย" ปูดไร้ชื่อ "พิศาล" หมายแดง "อังคณา" ฝากบี้ "วันนอร์" คนให้ลา

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 17:33:35
X
• คดีตากใบ:
• คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา ถกประเด็นคดีตากใบ
• อัยการจังหวัดยืนยัน หากคดีหมดอายุความแล้ว ไม่สามารถฟ้องร้องต่อได้
• หมายแดง:
• "สุณัย" เผย ฐานข้อมูลอินเตอร์โพลไม่มีชื่อ "พิศาล" ในหมายแดง
• สน.ภูธร ภาค 9 แจ้งว่า กองการต่างประเทศออกหมายเลขพร้อมติดต่อสถานทูตแล้ว
• บทบาทสส.:
• "อังคณา" ฝาก สส. เรียกร้องให้ "ว" (ไม่ได้ระบุชื่อ) ชี้แจงกรณีหมายแดง

กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิฯ ถกคดีตากใบ อัยการจว. ชี้ หากหมดอายุความแล้วไม่สามารถฟ้องต่อได้ "สุณัย" แฉฐานข้อมูลอินเตอร์โพลไร้ชื่อ "พิศาล" ในหมายแดง สน.ภูธร ภาค 9 แจงกองการต่างประเทศออกหมายเลขพร้อมติดต่อสถานทูตแล้ว ”อังคณา“ ฝากสส.บี้ “วันนอร์” คนอนุญาตให้ลาประชุมสภา

วันนี้ (22ต.ค. 67) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร สว. เป็นประธาน วาระเพื่อพิจารณาติดตามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิด กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

นายชัยชาญ ยมจินดา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวว่า จากกรณีที่อสส.มีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คนจากคดีตากใบนั้น และได้มีการส่งกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และส่งกลับมาที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 และส่งกลับมาที่หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตน เมื่อรับสำนวนมาแล้วต้องแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา 8 คนมาดำเนินคดีทำคู่ขนานไปกับพนักงานสอบสวน ตนไม่มีสิทธิ์ทำอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งการสอบสวน นอกจากร่างฟ้อง จนกว่าจะได้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน และรอว่าเมื่อถึงวันที่ 25 ต.ค. เวลา 16.00 น.ตามเวลาราชการ หากพนักงานสอบสวนสามารถนำตัวผู้ต้องหา 8 คนหรือคนใดคนหนึ่งมา ก็สามารถส่งฟ้องต่อได้เลย แต่หากเกินเวลาหรือตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค.เป็นต้นไป คดีจะถือว่าขาดอายุความ ซึ่งหากคดีขาดอายุ พนักงานอัยการต้องสั่งยุติคดี เพราะไม่สามารถส่งต่อไปที่ศาลได้ และไม่ใช่อำนาจของอัยการปัตตานี แต่ต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้สั่งยุติคดีอีกครั้ง จากนั้นจึงจะต้องส่งกลับมาที่อัยการปัตตานีเพื่อส่งแก้คดี แล้วแจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้

ด้านนายสุณัย ผาสุก ผู้แทน Human Rights Watch Asiaกล่าวว่า คดีตากใบเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเมื่อเกิดขึ้นกลับไม่มีการรับผิดชอบจากผู้กระทำ และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมองค์กรแห่งชาติทั้งหลายจึงให้ความสนใจและติดตามเรื่องนี้มาตลอด อย่างไรก็ตาม คดีตากใบยังเป็นความหวังว่าวงจรของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถถูกยับยั้งได้ ทั้งนี้ เราได้ไปคุยกับครอบครัวของผู้รอดชีวิต เขาบอกว่าการนำเท้าไปเหยียบกับกระบวนการยุติธรรม แม้เพียงครึ่งเท้าก็ยังดี แต่ก็มีความหวัง การให้ความจริงกับเขาถือเป็นส่วนหนึ่งของความหวัง ตนจึงมีความหวังให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ตอนนี้เหลือเวลาอีก 3 วัน ซึ่งตนได้เช็กกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพลแล้ว กลับไม่พบว่าในฐานข้อมูลของอินเตอร์โพลยังไม่มีชื่อของพล.อ.พิศาล วัฒนวงศ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ย้ำว่า ผลที่ออกมาจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานว่า อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้

“ผมกังวลว่าการใช้กำลังของรัฐจะดำเนินต่อไป และรัฐสามารถกระทำกับประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คำว่าตายจ่ายจบแล้ว ไม่ใช่การเยียวยา ส่วนคำพูดที่บอกว่ารับเงินไปแล้วก็จบ ยังไงก็ไม่จบเพราะนั่นไม่ใช่สิ่งทดแทนความยุติธรรม” นายสุณัย กล่าว

ด้านนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ถามว่า จากที่ตำรวจภูธรภาค 9 อ้างว่าได้ขอหมายแดง หรือ Red Notice ไปยังอินเตอร์โพล ให้ตามตัวผู้ต้องหาในคดีตากใบทั้ง 14 คนแล้ว แต่จากที่ตนเองได้ตรวจสอบหมายแดงทั้ง 6,681 คนจากทั่วโลก พบว่า รัฐบาลไทยร้องขอหมายจับไปเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดีตากใบแต่อย่างใด จึงไม่แน่ใจว่าคำชี้แจงต่อกรรมาธิการตกหล่นอย่างไร จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอีกครั้งในเวลานี้ และจึงชี้แจงต่อกรรมาธิการอีกครั้ง จากข้อมูลล่าสุดเท่าที่มี ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน เป็นไปได้ว่าจะอยู่สถานที่ไหน ขอให้เปิดเผยมาโดยไม่ต้องกลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เพราะเวลานี้ประชาชนต้องการรับทราบข้อมูลของผู้ต้องหาทั้งหมด โดยเฉพาะอยู่ต่างประเทศกี่คน ประเทศใดบ้าง อยู่ในประเทศไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง และมีจำเลยหรือผู้ต้องหาบางคนอยู่ในค่ายทหารหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ และ ทั้ง 14 คนนี้ ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะคดีนี้มีเดิมพันที่สูงมากเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองญาติของผู้เสียหายที่ฟ้องคดีอย่างไรหลังจากคดีหมดอายุความ และมีแนวคิดจะฟ้องร้องประชาชนที่กล้าหาญจะฟ้องร้องคดีนี้หรือไม่ อย่างไร

พล.ต.ต.นิตินัย หลังหย่าหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า ตั้งแต่มีหมายจับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกหน่วยงาน ได้ติดตามจับกุมทุกหน่วยงาน โดยได้ออกหมายแดงอินเตอร์โพลทั้ง 14 คนเป็นที่เรียบร้อย และล่าสุด ได้เดินทางไปพบรองผู้ว่าจังหวัดนครพนม เพื่อติดตามตัวผู้ต้องหารายหนึ่งเพื่อให้มามอบตัว แต่ได้รับรายงานว่าขาดราชการ ไม่สามารถติดต่อได้ และทราบว่าหลบหนีไปยังประเทศลาว โดยคาดว่าใช้ช่องทางธรรมชาติ

พ.ต.อ.รังสี มั่นจิตร หัวหน้างานซักถามศูนย์พิทักษ์สันติ ชี้แจงว่า วันที่ตนชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯ เมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าตำรวจภูธรภาค 9 ทำหนังสือถึงกองการต่างประเทศ ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองการต่างประเทศแจ้งว่าได้ประสานกับอินเตอร์โพล และตนได้แจ้งว่าออกหมายแดงแล้ว 14 ราย ยืนยันว่ากองการต่างประเทศได้ออกหมายเลขแล้วเรียบร้อย โดยบุคคล 2 คนที่ออกจากต่างประเทศอย่างถูกต้องคือสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น จึงได้ทำหนังสือถึงสถานทูตแล้ว

“ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ กองสืบของแต่ละภูมิภาคได้แจ้งกลับมาว่า ไม่ปรากฏพบ คาดว่ามีการหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ซึ่งระเบียบปฏิบัติต้องอาศัยการประสานกับตำรวจท้องที่นั้นๆ ไม่สามารถจับกุมได้ทันที ส่วนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ตนยังไม่ทราบ ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการทหารนั้น ได้ตรวจค้นในค่ายทหารจังหวัดลำปางและแสดงหมายจับแล้ว แต่ก็ไม่ได้พบตัว”

นายสุณัย จึงร้องขอให้สตช.กระตุ้นทางอินเตอร์โพลให้ช่วยติดตามผู้ต้องหา ซึ่งเคยกระทำมาแล้วในหลายกรณีก่อนหน้านี้ จึงหวังว่าจะดำเนินการได้ และยังมีอีกช่องทางหนึ่งคือผ่านกระทรวงการต่างประเทศ โดยใช้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศที่ผู้ต้องหาหลบหนีไป ส่งตัวหรือเนรเทศบุคคลเหล่านั้นกลับมาในลักษณะของการต่างตอบแทน แต่น่าเสียดายที่วันนี้ไม่มีตัวแทนจากระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจง พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้ใช้หลักกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการอำนวยความยุติธรรมในประเทศปลายทาง เนื่องจากเวลาของอายุความในประเทศไทยใกล้หมดลง

พ.ต.อ.จาระวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ชี้แจงว่า พลเมืองไทยย่อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันตามหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ กอ.รมน. ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง และ กอ.รมน. พยายามบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกระดับการป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ทุกรูปแบบ

ด้านนายสรพงค์ ศรียานงค์ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง ชี้แจงว่า สมช. วางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง การคุ้มครองพยาน สำหรับกรณีตากใบที่ยังเหลือขั้นตอนการตามตัวผู้ต้องหา หากไม่สามารถนำตัวมาขึ้นศาลได้ จะส่งผลให้เกิดความหวาดระแวงและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ แต่จะมากเพียงใดต้องประเมินสถานการณ์หลังวันที่ 25 ต.ค. สำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลังหมดอายุความนั้น นับตั้งแต่ปี 2547 การชุมนุมได้มีพัฒนาการขึ้นมา และได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมและ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ ซึ่งจะนำไปปรับใช้ในอนาคต ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้ แต่พยายามสร้างความเข้าใจกับทั้งในและต่างประเทศว่าเรายึดสันติวิธีในการแก้ปัญหา แต่มีความเห็นต่างในพื้นที่ และมีทั้งการใช้ความรุนแรงและใช้สันติวิธีแตกต่างกันไป ย่อมส่งผลต่อการดำเนินนโยบาย รวมถึงการพูดคุยสันติสุขต่อไปด้วย

ขณะที่ นายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. ในฐานะกรรมาธิการ ถามว่า ผู้ที่อนุญาตให้พล.อ.พิศาลลาหยุด มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ส่วนผิดด้วยหรือไม่ ที่ทำให้หลบหนีไปจนขาดอายุความและเมื่อถึงวันที่ 25 ตุลาคม เราจะมีทางใดแทนที่จะบอกว่าหมดอายุความ เรามีวิธีแบบอื่นหรือไม่

นางอังคณา ชี้แจงว่า ผู้ที่อนุญาตให้พล.อ.พิศาลลาคือประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ตนไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายสภาจึงขอฝาก สส.ไปถาม ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานเรื่องเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูญเสียด้วยว่าการออกมาเรียกร้องต่างๆ ในวันนี้เพราะมีคนหนุนหลัง

ที่มา : MgrOnline