รายงานความยั่งยืน ช่วยเพิ่มผลลัพธ์ทางสังคม / ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 09:55:59
X
คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งข้อมูลต่อไปนี้:
• เว็บไซต์ GRI: [https://www.globalreporting.org/](https://www.globalreporting.org/)
• สื่อสังคมออนไลน์ของ GRI: Twitter, LinkedIn, Facebook
• สื่อข่าวธุรกิจและการเงิน
กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ชื่อเรื่องของรายงานหรือวันที่เผยแพร่ ฉันจะพยายามช่วยคุณค้นหาข้อมูลที่คุณต้องการ

เมื่อเดือนที่แล้ว องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) และกลุ่มพันธมิตรเกณฑ์เทียบระดับโลก (World Benchmarking Alliance: WBA) ได้เผยแพร่เอกสารรายงานวิจัยร่วม ที่มีชื่อว่า How to strengthen corporate accountability: The case for unlocking sustainable corporate performance through mandatory corporate reporting

รายงานวิจัยฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการใช้มาตรฐาน GRI และผลการดำเนินงานด้านสังคมของกิจการ ผ่านตัวชี้วัดหลักด้านสังคม (Core Social Indicators: CSI) ในระบบเทียบสมรรถนะของ WBA ที่ใช้จัดอันดับบริษัทที่โดดเด่นจำนวน 2,000 แห่ง ซึ่งมีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนทางสังคม โดยมุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน งานที่มีคุณค่า และการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม

โดยตัวชี้วัดหลักด้านสังคมของ WBA ที่ใช้ประเมินในการวิจัย ประกอบด้วย ตัวชี้วัดสิทธิมนุษยชนจำนวน 8 ตัว ตัวชี้วัดงานที่มีคุณค่าจำนวน 6 ตัว และตัวชี้วัดการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมจำนวน 4 ตัว รวมทั้งสิ้น 18 ตัวชี้วัด

ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงที่เข้มแข็งระหว่างการใช้มาตรฐานการรายงานที่สากลยอมรับ กับการปรับปรุงผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนทางสังคม ทั้งนี้ มีหลักฐานชี้ชัดว่าบริษัทที่เผยแพร่รายงานแห่งความยั่งยืนที่มีดัชนีสารบัญ GRI จะมีค่าตัวชี้วัดหลักด้านสังคม หรือ CSI สูงกว่าบริษัทอื่น อยู่ไม่น้อยกว่า 47% จากการเทียบสมรรถนะทางสังคมของ WBA

ขณะที่กิจการซึ่งมีการรายงานที่เป็นไปตาม (in accordance) มาตรฐาน GRI มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ เหนือกว่ากิจการที่มีเพียงการอ้างอิง (with reference) ตัวมาตรฐาน โดยบริษัทที่มีผลคะแนน CSI สูงสุด มีค่าสหสัมพันธ์กับกลุ่มที่ใช้มาตรฐาน GRI สำหรับการรายงาน

จากข้อมูล CSI ที่รวบรวมทั้งหมด 1,665 กิจการ จากบริษัทที่โดดเด่นจำนวน 2,000 แห่ง พบว่า บริษัทที่มีการจัดทำมีดัชนีสารบัญ GRI ในรายงาน มีจำนวน 977 กิจการ (59%) และที่ไม่มีการจัดทำมีดัชนีสารบัญ GRI ในรายงาน มีจำนวน 688 กิจการ (41%)

ในกลุ่มที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า มีบริษัทที่ระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบ In accordance จำนวน 436 กิจการ (26%) รองลงมาเป็นรูปแบบ With reference จำนวน 254 กิจการ (15%) ตามด้วยรูปแบบอื่น จำนวน 274 กิจการ (17%) และแบบที่ไม่มีการระบุ จำนวน 13 กิจการ (1%) ตามลำดับ

ในกลุ่มที่ไม่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า มีบริษัทที่ไม่มีการระบุถึงรูปแบบการใช้มาตรฐาน GRI จำนวน 606 กิจการ (36%) และมีบริษัทที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบอื่น จำนวน 82 กิจการ (5%) ตามลำดับ

โดยค่าเฉลี่ย CSI ในกลุ่มบริษัทที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า กลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบ In accordance มีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 6.6 คะแนน รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบ With reference อยู่ที่ 6.1 คะแนน ตามด้วยกลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบอื่น 5.3 คะแนน และกลุ่มที่ไม่มีการระบุถึงรูปแบบการใช้มาตรฐาน GRI 4.8 คะแนน ตามลำดับ

ขณะที่ ค่าเฉลี่ย CSI ในกลุ่มบริษัทที่ไม่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI พบว่า กลุ่มที่มีการระบุถึงการใช้มาตรฐาน GRI ด้วยรูปแบบอื่น มีคะแนนอยู่ที่ 3.9 คะแนน ตามด้วยกลุ่มที่ไม่มีการระบุถึงรูปแบบการใช้มาตรฐาน GRI 2.8 คะแนน ตามลำดับ
ที่น่าสนใจ คือ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย CSI และสัดส่วนบริษัทที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI จำแนกตามประเทศ พบว่า กลุ่มบริษัทในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ย CSI อยู่ราว 7.7 คะแนน และมีสัดส่วนบริษัทที่มีการเผยแพร่ดัชนีสารบัญ GRI อยู่ประมาณ 87% สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และมีค่าเฉลี่ย CSI สูงกว่าประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการส่งเสริมการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ที่แนะนำให้มีความสอดคล้องและอ้างอิงได้กับมาตรฐานสากล GRI นั่นเอง

สำหรับรายละเอียดของชุดตัวชี้วัดหลักด้านสังคมของ WBA ที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ คำมั่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน คำมั่นที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงาน การระบุผลกระทบและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การประเมินผลกระทบและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การผนวกและดำเนินการตามผลการประเมินผลกระทบและความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน การสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับหรือที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ กลไกการร้องทุกข์สำหรับคนงาน กลไกการร้องทุกข์สำหรับปัจเจกและชุมชนภายนอก สุขภาพและความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน ชั่วโมงทำงาน สภาพการจ้าง การเปิดเผยข้อมูลความหลากหลายแรงงาน ความเสมอภาคทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพสตรี การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภาระรับผิดชอบในการเสียภาษี การต้านสินบนและการต้านทุจริต การผลักดันนโยบายสาธารณะและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ

บทความโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ผู้สนใจเอกสารรายงานวิจัยฉบับดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดได้ที่  https://x.com/SDGBenchmarks/status/1836435743469711773

ที่มา : MgrOnline