นักวิชาการยุออกล่าสาวต่างชาติมาเป็นเมียให้พวกหนุ่มโสดในชนบทจีน

เผยแพร่ : 22 ต.ค. 2567 02:04:54
X
• ปัญหา: จีนมีผู้ชายโสดมากกว่าผู้หญิงโสดถึง 35 ล้านคน
• วิธีแก้ปัญหา: อาจารย์มหาวิทยาลัยเสนอให้หนุ่มจีนแต่งงานกับหญิงต่างชาติ
• ผลกระทบ: ความเห็นของอาจารย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
หมายเหตุ: ข่าวนี้สะท้อนถึงความกังวลของสังคมจีนเกี่ยวกับอัตราส่วนเพศที่ไม่สมดุล และอาจมีข้อกังวลด้านวัฒนธรรมและสังคมเกี่ยวกับการนำเสนอแนวคิดการแต่งงานข้ามชาติเป็นทางออก

อาจารย์ผู้หนึ่งจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในจีน ออกมาเสนอใช้วิธีให้หนุ่มแดนมังกรแต่งงานกับสาวต่างชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ยังมีคนโสดชายจำนวนสูงถึง 35 ล้านคน ซึ่ง "เหลือตกค้าง" หาคู่ไม่ได้อยู่ภายในประเทศ ปรากฏว่าความเห็นของเขาโหมกระพือประเด็นถกเถียง ตลอดจนเรียกเสียงขุ่นเคืองอย่างคึกคักบนสื่อสังคมออนไลน์

จีนเวลานี้เผชิญกับความท้าทายสำคัญทางด้านประชากร ซึ่งมีต้นตอมาจากการใช้นโยบายจำกัดแต่ละครอบครัวมีบุตรได้คนเดียวนานหลายทศวรรษ จนกระทั่งทำให้อัตราส่วนระหว่างเพศชายกับเพศหญิงเกิดการบิดเบี้ยวอย่างแรง โดยที่เวลานี้จำนวนประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงถึง 34.9 ล้านคน ทั้งนี้ ตามผลสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 ของจีนซึ่งกระทำในปี 2020

มีรายงานชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ในปีนี้ โดยเป็นรายงานจากสถาบันเพื่อชนบทจีนศึกษา ของมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูจีนภาคกลาง (Central China Normal University) ในเมืองอู่ฮั่น, มณฑลหูเป่ย ได้แจกแจงรายละเอียดความยากลำบากที่เพิ่มมากขึ้นของหนุ่มจีนในเขตชทบท ในการเสาะแสวงหาคู่ครองตลอดช่วงเวลาราว 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เงินสินสอดที่ค่อนข้างสูง และสภาพที่การแต่งงานตามประเพณีนิยมกำลังกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดลดน้อยลงเรื่อยๆ คือเหตุผลสำคัญที่สุดของความยากลำบากดังกล่าวนี้

เพื่อแก้ไขปัญหา ติง ฉางฟา รองศาสตราจารย์จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน กำลังออกมาเสนอแนะให้สนับสนุนอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่การแต่งงานระดับข้ามประเทศ และการนำเข้าเจ้าสาวต่างชาติ

เขาแนะนำว่า หนุ่มๆ ในจีนควรพิจารณาแต่งงานกับบรรดาผู้หญิงจากประเทศอื่นๆ อย่างเช่น รัสเซีย กัมพูชา เวียดนาม และปากีสถาน

"ในแถบชนบทของจีน เรามี ‘หนุ่มเหลือตกค้าง’ อยู่ราว 34.9 ล้านคน ที่อาจเจอกับแรงกดดันต่างๆ หากว่าพวกเขาต้องการแต่งงาน ทั้งเรื่องการมีรถ มีบ้าน และค่าสินสอด รวมแล้วคิดเป็นจำนวนเงินระหว่าง 500,000 ถึง 600,00 หยวน (ราว 2.3 ล้านบาท ถึง 2.8 ล้านบาท) ทีเดียว"

"ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว รายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้จริงในพื้นที่แถบชนบททั่วประเทศจีน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่แค่ 20,000 หยวน (93,000 บาท) เท่านั้น ในการแก้ไขปัญหานี้จึงอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับการดึงดูดหญิงสาวที่เข้าเกณฑ์จำนวนมากมาจากต่างแดน" อาจารย์ติง บอก

อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของเขาเรียกปฏิกิริยาย้อนศรอันเดือดดาลจากผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงหลายคนโต้แย้งว่าการนำเข้าเจ้าสาวต่างชาติอาจเทียบเท่ากับเป็นการค้ามนุษย์ ส่วนคนอื่นๆ แสดงความกังวลว่าอุปสรรคทางภาษาซึ่งอาจเกิดขึ้นมา จะนำมาซึ่งความขัดแย้งในครอบครัว

กระนั้นก็ดี พวกผู้ชายจำนวนมากทีเดียวสนับสนุนความคิดนี้ พวกเขาเชื่อว่าเจ้าสาวต่างชาติอาจมีความคาดหวังน้อย เนื่องจากพวกเธอไม่ต้องการบ้าน รถยนต์ หรือสินสอดราคาแพง ขณะเดียวกัน พวกเธอยังพร้อมทำงานหนักและใช้ชีวิตอยู่ในศีลในธรรม

มีผู้สังเกตการณ์ทางออนไลน์ออกความเห็นแบบอิงหลักเศรษฐศาสตร์ว่า การเปิดกว้างให้มีการแต่งงานแบบข้ามชาติ จะเหมือนกับปล่อยให้รถเทสลาเข้าสู่ตลาดจีน มันจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน มีการปรับปรุงคุณภาพ และดึงให้ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายลดต่ำลงด้วย

“ทำนองเดียวกัน การแต่งงานแบบข้ามชาติ จะเปิดทางให้ชายหญิงชาวต่างชาติเข้าสู่ตลาดเปิดกว้างของจีน และทำการแข่งขันกัน แต่ละคนต้องพึ่งพาอาศัยความสามารถของพวกเขา และนี่อาจจะเพิ่มโอกาสของการแต่งงานและเพิ่มพูนอัตราการเกิดได้ด้วย”

ที่จริงแล้ว การแต่งงานข้ามชาติเริ่มพบเห็นได้เป็นเรื่องปกติมากขึ้นในหมู่พวกผู้ชายในจีน ในแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อย่าง โต่วอิน (แม่แบบในจีนของแพลตฟอร์มติ๊กต็อก) บริษัทมืออาชีพด้านการจับคู่บางแห่ง ได้เริ่มเสนอบริการจับคู่ชาวจีนกับชาวรัสเซียกันแล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้สอดคล้องกับความแตกต่างทางประชากรระหว่าง 2 ชาติ เนื่องจากรัสเซียมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ขณะที่จีนมีประชากรชายส่วนเกินจำนวนมาก

ทางด้าน จินกงจื่อ (Jingongzi) อินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงินที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.8 ล้านรายทางแพลตฟอร์มโต่วอิน แสดงความคิดเห็นว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงรักษาสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับจีนเรี่อยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว และในทางวัฒนธรรม เราก็มีสิ่งที่คล้ายๆ กันจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น เวียดนาม ยังคงเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติอยู่เลย

“ผลก็คือ ผู้หญิงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ต้องเจอประสบการณ์ภาวะช็อกทางวัฒนธรรมอะไรมากมายเลย เมื่อพวกเธอมายังประเทศจีน ยิ่งกว่านั้น ระดับรายได้ของท้องถิ่นในประเทศเหล่านี้ก็ต่ำมากๆ

“นอกจากนั้นแล้ว ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากยังกำลังส่งเสริมสนับสนุนการเรียนภาษาจีนกลางอย่างกระตือรือร้นเพื่อเพิ่มสายสัมพันธ์กับเราให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะขจัดกำแพงด้านการติดต่อสื่อสารลงได้”

ที่มา : MgrOnline