นิรโทษ“นายใหญ่”เสี่ยงพัง พท.ถอยรอจังหวะ !?

เผยแพร่ : 21 ต.ค. 2567 23:42:46
X
• ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ไม่มีการพูดถึงเรื่อง "นิรโทษกรรม"
• ไม่มีการพูดถึง "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" ในการประชุม
ภูมิธรรม เวชยชัย - แพทองธาร ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดวง “ดินเนอร์” พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมาได้ปัดทิ้ง “ของร้อน” ออกไปก่อน นั่นคือ ไม่มีการหยิบยกเรื่อง “นิรโทษกรรม” ขึ้นมาหารือ และนั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” คือครอบคลุมถึงความผิดตาม มาตรา 112 ไปด้วย เพราะอย่างหลังนี่แหละ คือของร้อนของจริง
ก่อนถึงเวลารับประทานอาหารร่วมกันในตอนเช้า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถือว่าเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ตัวจริง ได้ส่งสัญญาณชัดว่า จะไม่นำเรื่องนิรโทษกรรม เข้าหารือ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วงดินเนอร์เย็นนี้ถือเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามารับตำแหน่ง เพิ่งจะถือโอกาสพูดคุยกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์เป็นเรื่องหลัก นอกจากนั้น คงอยากจะฟังความเห็นจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลว่าเมื่อมาบริหารร่วมกันแล้วมีอะไรที่เป็นข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงแก้ไข

ส่วนวงรับประทานอาหารจะมีการหารือถึงแนวทางร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หรือไม่ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีความเห็นต่างจากพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็แล้วแต่พรรคร่วมฯ ว่าจะคุยกันในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะปกติเรื่องเหล่านี้ไม่ได้หารือกันในเวทีนี้ เพราะต้องใช้เวลานั่งพูดคุยกัน และวงเหล่านั้นก็มีอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการศึกษา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกมาให้ความเห็นว่าควรจะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เพื่อรับทราบ ความเห็นทางพรรคร่วมรัฐบาลที่เห็นต่างกัน นายภูมิธรรม กล่าวว่า เดี๋ยวต้องคุยกัน แต่ไม่ใช่บรรยากาศในวงดินเนอร์ เพราะต้องคุยหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่ผิวเผิน ต้องดูถึงเหตุผลแต่ละส่วนว่าเป็นอย่างไร

“เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลมาจากต่างพรรค คงไม่เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด เรื่องที่เห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหลักๆที่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา นอกเหนือจากนั้นจะต้องปรับปรุงกันเมื่อถึงเวลา หากพูดคุยกันแล้ว เรื่องไหนเป็นเรื่องของจุดยืนเขายืนยันมาชัดเจน ก็ต้องคุยกันว่าจุดร่วมกันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้จะมีเวทีให้พูดคุยกันอยู่แล้ว” นายภูมิธรรม ระบุ

สอดคล้องกับคำพูดของ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค.นี้ จะสามารถลงมติรับ หรือไม่รับ รายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ได้หรือไม่ ว่า โหวตได้อยู่แล้ว แต่จะโหวตไปในทิศทางไหนนั้น เราไม่สามารถบังคับเขาได้ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. ไม่ทราบว่าแต่ละคนจะโหวตแบบไหน ซึ่งหากโหวตเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญฯ ก็ส่งต่อให้รัฐบาล แต่รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ถือเป็นสิทธิ์ของรัฐบาล แต่หากโหวตไม่ผ่านก็จบอยู่ที่สภา โดยช่วงเช้าของวันที่ 24 ต.ค. เราจะมีการประชุมพรรค ที่อาคารรัฐสภา เพื่อถามมติของสส. ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะเห็นด้วยกับ กมธ.หรือไม่

เมื่อถามว่า ก่อนปิดสมัยประชุมมีร่างกฎหมายหรือรายงานค้างเยอะ หรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า วันพฤหัสบดีจะมีการหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จากนั้นจะเข้าสู่วาระต่างๆ ไม่มีกฎหมาย ส่วนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.นี้ ก็จะเป็นญัตติ กฎหมายให้ไปว่ากันสมัยประชุมหน้า

ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณถอยค่อนข้างชัดเจนสำหรับพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็พอมองเห็นกันอยู่แล้ว กับเรื่อง “นิรโทษกรรม” โดยเฉพาะที่เป็นการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมไปถึงความผิด มาตรา 110 และ มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับสถาบัน ขณะที่ในเรื่องที่เป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดทางการเมืองอื่นๆ เชื่อว่าทุกคนไม่ได้ติดใจ เชื่อว่าทุกพรรคเห็นตรงกัน

แต่ปัญหาก็คือ มี “บางคน”ไม่ได้ประโยชน์จาก ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ครั้งนี้ ทำให้ทุกอย่างยังคาราคาซัง ไม่ยอมสะเด็ดน้ำได้สักทีหรือเปล่า

แน่นอนว่าหากสำรวจท่าทีของบรรดาพรรคการเมืองเฉพาะที่ชัดเจนว่าสนับสนุนการนิรโทษกรรมที่ให้ครอบคลุมความผิดมาตรา 112 ในทุกกรณี ก็มีพรรคประชาชน พรรคเดียวที่แสดงออกอย่างเปิดเผย ขณะที่อีกพรรคหนึ่งคือ เพื่อไทย แม้ว่ายังไม่มีท่าทีชัดเจนในประเด็นดังกล่าว แต่เชื่อว่าข้างในลึกๆแล้วก็ต้องการแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าไม่กล้าแสดงออกให้ชัดเจน เพราะเกรงจะมีผลทางการเมือง กระทบต่อรัฐบาล และยังผลกระทบในการเลือกตั้งอีกด้วย

สำหรับพรรคประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีระดับแกนนำ และส.ส.ของพรรค รวมไปถึงแนวร่วมจำนวนมากถูกดำเนินคดี บางคนติดคุก มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าพวกเขาต้องการให้พ้นผิด และกลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากล้างมลทินไปแล้ว แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าทำขนาดนั้นไม่ได้ แม้ว่าในใจลึกๆแล้วเชื่อว่าอยากจะเห็นไปทางเดียวกับพรรคประชาชนก็ตาม

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศในสังคมส่วนใหญ่ที่เรื่อง มาตรา 112 เป็นเรื่องอ่อนไหว ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย จึงต้องทำให้ “คลุมเครือ” เอาไว้ก่อน ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปจะเห็นว่าระดับ “นายใหญ่” ของพรรคนี้ ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ทำให้หลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการ “เหมาเข่ง” แบบนี้ไปด้วย เพียงแต่ว่ากลายเป็น “เป้าใหญ่” ไปหน่อยทำให้ยังไม่กล้าขยับ เพราะเกรงกระทบกับผลที่ตามมาดังกล่าวข้างต้น

เมื่อประมวลตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เชื่อว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลดำเนินการก็คือ “แขวน” ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในสภาเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะร่างของพรรคประชาชนที่เสนอ “คา” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ขณะที่รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯก็น่าจะปล่อยให้ไปว่ากันในสมัยประชุมหน้า

ดังนั้นหากให้จับอาการของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลที่พวกเขาเป็นแกนนำ สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เชื่อว่าคง “ถอยชั่วคราว” เนื่องจากบรรยากาศไม่เอื้ออำนวยให้เดินหน้า แต่ที่ยัง “ไม่ถอน” เพราะยังต้องลุ้นให้มีผลครอบคลุมไปถึงความผิด มาตรา 112 ด้วย และที่สำคัญตราบใดที่ “นายใหญ่” ยังไม่ได้ประโยชน์ก็ต้อง “คา” เอาไว้แบบนี้แหละ รอจังหวะค่อยกลับมาใหม่ดีกว่า !!

ที่มา : MgrOnline