สตง.จับตา 3 โครงการใหญ่ 3.1 พันล้าน “พัฒนากีฬาท้องถิ่น” ย้อนหลัง 5 ปี ติดสารพัดปัญหา ส่อภาวะ “สนามกีฬา-สระว่ายน้ำ” ร้าง

เผยแพร่ : 21 ต.ค. 2567 18:16:12
X
• สตง. ตรวจสอบโครงการพัฒนากีฬาท้องถิ่น ย้อนหลัง 5 ปี มูลค่ารวมกว่า 3.1 พันล้านบาท
• โครงการผ่านกรมพลศึกษา 3 โครงการใหญ่:
• จ้างอาสาสมัครนำออกกำลังกาย 7.5 หมื่นหมู่บ้าน
• สร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล 170 แห่ง
• สร้างสระว่ายน้ำชุมชน 12 อปท.
• สตง. พบข้อผิดพลาดและความไม่โปร่งใสในโครงการ
• ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อผิดพลาด แต่กำลังตรวจสอบ

สตง.จับตา โครงการพัฒนากีฬาท้องถิ่น ย้อนหลัง 5 ปี มูลค่ารวมกว่า 3.1 พันล้าน ผ่าน “กรมพลศึกษา” 3 โครงการใหญ่ จ้าง “อาสาสมัครนำออกกำลังกาย 7.5 หมื่นหมู่บ้าน-สร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล 170 แห่ง สร้างสระว่ายน้ำชุมชน 12 อปท. พบ เฉพาะปี 66 จ้างผู้นำออกกำลังกาย ผ่าน 9,921 หมู่บ้าน รวม 13,052 คน จากทั้งหมด 7.5 หมื่นหมู่บ้าน ส่วน “สนามกีฬาอำเภอ/ตำบล 170 แห่ง” สร้างเสร็จจริง 164 แห่ง พบ 8 ปี ยังติดมหากาฬปัญหาถ่ายโอนฯ เช่นเดียวกับ “สระว่ายน้ำชุมชน” 9 จาก 12 แห่ง อปท.ไม่กล้าจัดงบบำรุงรักษา ทำคนพื้นที่เสียโอกาส ส่อภาวะ “สนามกีฬา-สระว่ายน้ำ” ร้าง

วันนี้ (21 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบ โครงการส่งเสริมการออก กำลังกาย กีฬา และนันทนาการ ของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ที่รับการจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562-2566 เป็นวงเงินจำนวน 3,146.15 ล้านบาท เน้นไปที่ โครงการจ้างเจ้าหน้าที่พลศึกษา (จพล.) ประจำจังหวัดและอำเภอ รวมถึงการก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล รวมถึง สระว่ายน้ำชุมชน ของกรมพลศึกษา

สตง. พบว่า โครงการจ้าง จพล. ประจำจังหวัดและอำเภอ ที่กำหนดให้ทุกหมู่บ้านมี “อาสาสมัครกีฬาและผู้นำการออกกำลังกาย (อสก.)” ที่จะต้องได้รับการพัฒนา ครบทุกหมู่บ้านภายในปี 2567

“สามารถนำออกกำลังกายตามเกณฑ์ที่กำหนด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2570 ซึ่ง สตง.พบว่า ระหว่างปี 2563-2566 ยังไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุได้ตามเป้าหมาย”

อีกทั้งผลการดำเนินงานยังแตกต่างจากแผนที่กำหนดไว้เป็นจำนวนมาก ตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกรมพลศึกษา

พบว่า อสก. ยังมีข้อจำกัดบางประการทำให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายกำหนด มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 มี อสก. ที่ได้รับการอบรมแล้วเพียงร้อยละ 13.21 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด

(ข้อมูลของ กรมพลศึกษา ระบุ ปีงบประมาณ 2566 มี อสก. จำนวน 13,052 คน จาก 9,921 หมู่บ้าน) (ข้อมูล มท. มีหมู่บ้าน จำนวน 75,142 หมู่บ้าน)

ทำให้กระบวนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของ อสก. ยังไม่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานได้

สตง. พบว่า สาเหตุหลักของปัญหาหรือข้อจำกัดดังกล่าวเกิดจาก "กระบวนการจัดทำโครงการ" ถูกกำหนดจากหน่วยงานในส่วนกลาง โดยกรมพลศึกษา ไม่มีกระบวนการสอบถามความต้องการของพื้นที่

รวมถึงไม่มีการให้พื้นที่เสนอโครงการตามความต้องการ หรือความสนใจของประชาชนในพื้นที่มาจัดทำฐานข้อมูล สำหรับการวางแนวทางในการจัดทำโครงการ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณในปีต่อๆ ไป

ในส่วนการดำเนินงานของ อสก. จึงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและ ยังไม่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานได้ มีสาเหตุจากกระบวนการฝึกอบรมเพื่อให้ได้มา

ซึ่งเป้าหมาย อสก. ยังไม่สามารถทำให้ผลผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด กระบวนการการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของ อสก. ยังมีการจัดเก็บข้อมูล

ไม่เพียงพอต่อการวัดผลสัมฤทธิ์ของ การดำเนินงาน รวมถึงยังไม่มีการกำหนดรูปแบบการรายงานผลที่เป็นระบบและกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีปัญหาจาก ระบบฐานข้อมูล อสก. ยังไม่เป็นปัจจุบัน

สตง. ยังตรวจสอบ “การก่อสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอและตำบล รวมถึง สระว่ายน้ำชุมชน” พบว่า ยังมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้มีความพร้อม ในการให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม้ได้ถ่ายโอนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษา

“สนามกีฬา 170 แห่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 164 แห่ง ซึ่ง 118 แห่ง ยังไม่ได้ถ่ายโอนฯ ตามกระบวนการของกรมธนารักษ์ หลายแห่งใช้เวลาตั้งแต่มีการก่อสร้าง มากกว่า 8 ปี”

ที่น่าสนใจ มีบางแห่งก่อสร้างในพื้นที่อื่นไม่ตรงกับพื้นที่ที่ของบประมาณ และบางแห่งเอกสารที่ราชพัสดุไม่ตรงกับแปลงที่ปลูกสร้าง จึงไม่สามารดำเนินการตามกระบวนการของกรมธนารักษ์ได้

นอกจากนี้ “สนามกีฬาบางส่วน” ก่อสร้างในพื้นที่ของหน่วยงานอื่น ที่ไม่ใช้พื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงเกิดปัญหาในการทำความตกลงกัน ระหว่างหน่วยงานเจ้าของพื้นที่กับ อปท. ที่ต้องรับถ่ายโอนตามมติคณะรัฐมนตรี

“ข้อมูลปัจจุบัน สนามกีฬาบงแห่งจะไม่ได้รับการดูแลบำรุงรักษา จนทำให้สนามกีฬาเกิดการชำรุด เสียหายและวัสดุครุภัณฑ์เกิดการสูญหาย เช่น สนามฟุตบอลมีหญ้าขึ้นสูง ไม่สามารถใช้เล่นกีฬาได้”

บางแห่งห้องน้ำและห้องพักนักกีฬาชำรุดเสียหาย ลานอเนกประสงค์พื้นร่อนแตกร้าว โรงยิมไม่มีการทำความสะอาดให้พร้อมใช้งาน และไม่มีการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและน้ำประปา

ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์สนามกีฬาอย่างเต็มประสิทธิภาพ เกิดความไม่คุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ และส่งผลต่อการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสนามกีฬา

ขณะที่ “สระว่ายน้ำชุมชน” สตง. พบว่า อาจมีความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และการให้บริการประชาชน ซึ่งจากทั้งหมด 12 แห่ง ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 9 แห่ง กลับยังไม่ได้ถ่ายโอนให้ อปท. ตามกระบวนการของกรมธนารักษ์ หลายแห่งใช้เวลาตั้งแต่มีการก่อสร้าง 1 ปี 2 เดือนจนถึง 2 ปี”

ปัญหาที่ยังไม่มีการถ่ายโอนฯ จากอุปสรรค เช่นเดียวกับก่อสร้างสนามกีฬา ทำให้หน่วยงาน อปท. ไม่มีความมั่นใจในการตั้งงบประมาณดูแลรักษา เช่น ค่าบุคลากรในการดูแลสระว่ายน้ำ ค่าจ้างครูฝึกสอน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และ ค่าวัสดุน้ำยาและสารเคมี เป็นต้น

ที่มา : MgrOnline