PLANET#3: เจาะลึก “ฮัน คัง” โนเบลวรรณกรรมหญิงคนแรกของเอเชีย: เผด็จการทหาร เผด็จการครัวเรือน ถูกเธอจับมาชำแหละ และแซ่บทุกเรื่อง

เผยแพร่ : 21 ต.ค. 2567 05:02:09
X
• ฮัน คัง เป็นนักเขียนชาวเกาหลีใต้ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
• เธอมีชื่อเสียงจากการเป็นนักต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและความโหดเหี้ยมของเผด็จการทหาร
• ผลงานของเธอสะท้อนถึงความอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์จอมอิทธิพลที่ยังคงมีอิทธิพลในสังคมเกาหลีใต้
• เธอเป็นนักเขียนที่มีความคิดลึกซึ้งและมุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
ฮัน คัง ประพันธกรหญิงจากแดนโสมขาว เจ้าของดวงตาเศร้าที่มากมายด้วยพลังแห่งการครุ่นคิด เธอเป็นมากกว่านักเขียนรางวัลโนเบลวรรณกรรม เธอคือนักต่อสู้ความไม่เป็นธรรมและความโหดเหี้ยมของเผด็จการทหาร และเธอคือนักบันทึกสังคมผู้ชำแหละเปิดโปงวัฒนธรรม “เผด็จการในครัวเรือน” อันเป็นสิทธิพิเศษที่ได้รับความคุ้มครองจากลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ซึ่งเกาะกุมสังคมเกาหลีได้อย่างเหนียวแน่นมาแต่โบราณ; ในการนี้ อาวุธของ ฮัน คัง ก็คือ ผลิตภัณฑ์งานวรรณกรรมที่ปรากฏออกมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 เรื่องในรอบ 40 ปี นับจากศักราช 1984 โดยมีไม่น้อยกว่า 5 เรื่องที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ตลอดจนภาษาตระกูลใหญ่ๆ ของโลก และ The Vegetarian เป็นเรื่องแรกที่ก้าวสู่เวทีวรรณกรรมระหว่างประเทศ (ไม่น้อยกว่า 13 ภาษา) พร้อมกับได้การตอบรับยิ่งใหญ่มหาศาล แต่นั่นไม่ใช่งานที่ตัวเธออยากให้ผู้คนอ่านเป็นเล่มแรก เธอออกปากแนะนำ Human Acts นวนิยายอันเป็นที่รักและชื่นชมของชาวเกาหลีมากที่สุด มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวใกล้หัวใจของผู้คนอย่างเหลือเกิน เพราะ ฮัน คัง เขียนขึ้นบนเหตุการณ์ทหารล้อมปราบและสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนกว่า 2,000 ราย ณ เมืองกวางจู ปี 1980 นั่นเอง; หัวใจของสาวฮัน มันน่ากราบขั้นสุด นักเขียนหญิงวัย 53 กะรัตคนนี้ ปฏิเสธการหลงใหลปลื้มปริ่มในเกียรติยศ เธองดที่จะให้สำนักพิมพ์จัดงานแถลงข่าวฟุ้งเฟ้ออวดโอ่รางวัลยิ่งใหญ่แห่งจักรวาล ซึ่งในปีนี้ ถูกมอบให้แก่นักเขียนสตรีเอเชียเป็นครั้งแรก โดยเธอให้เหตุผลที่มีนัยสำคัญอันมหาศาลว่า ‘จะแถลงข่าว จะเฉลิมฉลองรางวัลได้อย่างไร ในเมื่อผู้คนล้มตายกันทุกวันในยูเครน และปาเลสไตน์’ ยอมใจเธอจริงๆ!!
ชาวโลกพากันทึ่งผู้หญิงชื่อ ฮัน คัง เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม 2024 เมื่อได้สัมผัสตัวตนของเธอ ประพันธกร ฮัน คัง มีน้ำเสียงนุ่มนวลถ่อมตน แต่ก็ดุดันหน้าตาเฉยในยามที่เล่าถึงเหยื่อสังหารโหดของรัฐบาลเผด็จการนายพลชุน ดูฮวาน ณ เมืองกวางจู ปี 1980 โดยรายหนึ่งถูกเชือดคอเหวอะหวะ “จนลิ้นไก่สีแดงถึงกับยื่นปลิ้นออกมา มันเป็นสีแดงแบบเดียวกับเวลาที่เด็กน้อยแลบลิ้นล้อเลียนเพื่อน” ฮัน คัง เล่าไว้ในสไตล์อย่างนั้น

ในเวลาเดียวกัน ชาวโลกยิ่งหลงรัก ฮัน คัง เพราะรสชาติงานประพันธ์ของเธอสามารถ “ตก” ผู้อ่านให้ติดหนึบกับลีลาการร้อยเรียงใจความอย่างงดงาม แต่พร้อมจะสาดซัดความช็อกอันมากมายใส่ผู้อ่าน ในยามที่เล่าว่า ย็อง ฮเย ในวัยสามสิบต้นๆ ถูกคุณพ่อตบหน้าฉาดใหญ่ แล้วถูกยัดชิ้นเนื้ออัดเข้าปาก เพราะคุณพ่อจะบังคับให้เธอ เลิกเป็นนักมังสวิรัติ โดยในศึกพ่อลูกนี้ สามีของ ย็อง ฮเย กับพี่เขย ช่วยกันล็อกตัวเธอ!! อะไรจะเผด็จการหักหาญน้ำใจได้สะท้านสะเทือนกันปานนั้น

ฮัน คัง สาวดวงตาเศร้าช่างครุ่นคิด เป็นหญิงเอเชียนางเดียวที่ชนะรางวัลอภิมหาเกียรติยศระดับโลกนามว่า “โนเบลวรรณกรรม” ซึ่งแจกกันมาแล้ว 116 ปี นับแต่ศักราช 1901

ในการนี้ นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่า สุดยอด “ตราการันตี” ถึงความเป็นเลิศของนักเขียนที่ ฮัน คัง ได้รับ คือเครื่องยืนยันถึงศักยภาพยิ่งใหญ่อีกหนึ่งสาขาของสาธารณรัฐเกาหลี หลังจากที่ The Parasite ของ บงจุนโฮ คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งสถาบันออสการ์ในปี 2020 และ สควิดเกม ประสบความสำเร็จล้นหลามในฐานะซีรีส์ระทึกใจจอมป๊อปปูลาร์ อันกระหึ่มไปทั่วโลกทางช่องเน็ตฟลิกซ์ ยิ่งกว่านั้น บรรดาซุปตาร์เค-ป๊อป อย่าง BTS และ Blackpink ก็บุกไปครอบครองหัวใจดนตรีของผู้คนทุกทวีปและทุกภูมิภาคเป็นที่เรียบร้อย

เกียรติยศที่ถูกมอบแก่ ฮัน คัง เจ้าของผลงานนวนิยายที่ชาวโลกชื่นชมกันมากมาย 6 เรื่อง ทั้ง The Vegetarian - Human Acts - The White Book - Europa - Greek Lessons - และเรื่องสั้น Convalescence จึงเป็นอีกหนึ่งบรรพที่ย้ำถึงความเป็นมหาอำนาจด้านพลังซอฟต์พาวเวอร์ของวัฒนธรรมเกาหลี นิวยอร์กไทมส์ตั้งประเด็นไว้อย่างนั้น

ตราการันตีว่างานประพันธ์ของ ฮัน คัง มีความลึกซึ้งและทรงคุณค่าคู่ควรแก่การเสพ ที่ราชบัณฑิตยสภาสวีเดนมีมติมอบแก่ ฮัน คัง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2024 นั้น เดินทางมายังสาธารณเกาหลีในจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะเหลือเกิน เพราะเป็นห้วงที่บรรดาแม่หญิงนักกวีและนักนวนิยายแห่งแดนโสมขาวพากันเฟื่องฟูและโกอินเตอร์กันสุดๆ โดยมีการนำไปถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ นำเสนอให้นักอ่านของสารพัดประเทศได้สัมผัสและหลงรัก

แต่นิวยอร์กไทมส์บอกว่า ขณะที่ชัยชนะของฮัน คัง เป็นที่ปลาบปลื้มของคนเกาหลี ในฐานะความสำเร็จทางวัฒนธรรมระดับเพชรยอดมงกุฎ แต่สิ่งที่เธอ และบรรดานักเขียนสตรีแดนโสมขาว ขับเคลื่อนอยู่นั้น มันคือการขบถต่อวัฒนธรรมเกาหลีที่อวยให้ผู้ชายครองความเป็นจ้าว เมื่อขบถแล้วก็ทำการชำแหละพฤติกรรมกดขี่เอาเปรียบผู้หญิง และใช้ความรุนแรงบูลลี่กันสาหัส ทั้งในระดับประเทศ และระดับเผด็จการครัวเรือน

เรื่องราวอัปลักษณ์เหล่านี้ถูกนำไปเปิดโปงจนล่อนจ้อนอยู่ในนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี รวมได้มากกว่า 15 เรื่อง ที่ ฮัน คัง ถ่ายทอดออกมานับแต่เริ่มอาชีพนักประพันธ์ในปี 1993 ณ อายุขัยเพียง 23 กะรัต
งานประพันธ์ของ ฮัน คัง ที่ถูกแปลและพิมพ์จำหน่ายเป็นเวอร์ชันภาษาต่างๆ มี 7 เรื่อง โดย 4 ปกที่นำแสดงในภาพนี้ ได้แก่ นวนิยาย 3 ปก (แถวบน จากขวาไปซ้าย) คือ “Human Acts” – “การกระทำของมนุษย์” เปิดโปงความโหดร้ายของเผด็จการนายพลชุน ดูฮวาน ในเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเมืองกวางจู เพื่อกวาดล้างการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐประหารปี 1980 โดยเล่าชะตากรรมของแต่ละครที่เอาชีวิตรอดมาได้ เพียงเพื่อจะกลายเป็นการตกนรกบนดิน เพราะบาดแผลทางจิตใจที่ติดแนบวิญญาณมา ฝังลึกเกินเยียวยา บางคนลงเอยด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม;  “The Vegetarian” - “นักมังสวิรัติ” ชำแหละพฤติกรรมรุนแรงของบรรดาเผด็จการในครัวเรือน ตั้งแต่คุณพ่อ คุณสามี ไปจนถึงพี่เขย นวนิยายเรื่องนี้ดรามาขั้นสุด แถมด้วยบรรยากาศจิตหลอนวิญญาณลวง กระทั่งว่าชาวยุโรปติดใจ The Vegetarian จนงอมแงม; และ “Greek Lessons” – “เรียนภาษากรีก” เป็นนวนิยายขนาดสั้นเกี่ยวกับสิทธิสตรีที่ถูกข่มเหงมากมาย โดยดำเนินเรื่องในบริบทของสังคมเกาหลีที่โหดร้ายและเอาเปรียบสตรี ทั้งนี้ ในสังคมที่ผู้ชายเป็นเผด็จการแห่งครัวเรือน นางเอกจึงไม่ได้รับสิทธิที่จะเลี้ยงดูลูก สภาวะจิตใจของเธอเสียหายหนักหนากระทั่งว่า เธอไม่สามารถพูดได้แล้ว ในวันหนึ่งนางเอกไปลงเรียนคอร์สภาษากรีก ส่วนพระเอกซึ่งเป็นคนเยอรมัน ตาบอด คืออาจารย์ผู้สอน ซึ่งก็มีปมดรามามากมายจากบิดา ทั้งสองมีวิธีที่จะสื่อสารกันได้อย่างลึกซึ้ง โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็คือมุมถนัดของ ฮัน คัง คือเรื่องราวเซอร์เรียลลิสติก ขณะที่ภาษาในการเรียงร้อยถ้อยคำของ ฮัน กัง ก็ประณีตงามวิจิตรดั่งบทกวีในงานร้อยแก้วอย่างเหลือเกิน; นอกจากนั้น เป็นผลงานประเภทเรื่องสั้น (แถวล่าง) คือ “Convalescence” – “พักฟื้น” อันนี้ไม่มีข้อมูลให้นำมาเล่า
ในภาพนี้ เป็นอีก 3 ผลงานนวนิยายของ ฮัน คัง ที่ถูกแปลและพิมพ์จำหน่ายเป็นเวอร์ชันภาษาต่างประเทศ (จากซ้ายไปขวา) ได้แก่ Blanc เป็นเวอร์ชันภาษาฝรั่งเศสของนวนิยายเรื่อง The White Book ซึ่งฮัน คัง บอกว่าเธอเล่าเรื่องส่วนตัวของเธอ คล้ายว่าเป็นอัตชีวประวัติ คือ ความทุกข์ตรมจากการสูญเสียคุณแม่;  We Do Not Part นวนิยายเรื่องล่าสุด เริ่มวางแผงในเวอร์ชันภาษาเกาหลีเมื่อปี 2021 เป็นธีมเปิดโปงความโหดร้ายของเผด็จการทหารต่อหมู่บ้านบนเกาะเจจู ทั้งนี้ เวอร์ชันภาษาอังกฤษจะออกมาปี 2025;  ส่วนสำหรับผลงานอีกหนึ่งชิ้น คือ Levande Och Doda (Alive & Dead) ที่ถูกแปลเป็นภาษาสเปน และชาวโลกได้เห็นกันบนโต๊ะแสดงตัวอย่างผลงานภาษาต่างๆ ของ ฮัน คัง หลังจากที่ราชบัณฑิตยสภาแห่งสวีเดนประกาศมอบรางวัลโนเบลวรรณกรรม 2024 แก่เธอ
แม่หญิงเกาหลีอยู่ใต้อำเภอใจของผู้ชาย กระทั่งในแวดวงวรรณกรรมชั้นนำ ก็ยังถูก “หัวงู” ระดับผู้หลักผู้ใหญ่ ล่วงละเมิดทางเพศ!!

นับแต่ที่สาธารณรัฐเกาหลีได้สถาปนากระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวขึ้นมาในปี 2008 ผู้หญิงได้เป็นรัฐมนตรีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น นิวยอร์กไทมส์ตั้งข้อสังเกตไว้สำหรับประเด็นว่าสิทธิสตรีในสาธารณรัฐเกาหลีต่ำเตี้ยอย่างยิ่ง นักการเมืองสตรียากที่จะได้โอกาสรับใช้ชาติในระดับผู้กำหนดนโยบาย

นิวยอร์กไทมส์รายงานในอีกหนึ่งมิติสำคัญว่าก่อนที่ ฮัน คัง จะชนะรางวัลโนเบล วงการนักวิจารณ์วรรณกรรมในดินแดนโสมขาว ดินแดนแห่งสังคมผู้ชายครองความเป็นจ้าว จะอวยแต่นักเขียนบุรุษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กวีผู้ยิ่งใหญ่อย่าง คุณปู่โค อึน (Ko Un - 91 กะรัตในปัจจุบัน) ว่าเป็นนักประพันธ์แห่งชาติผู้มีโอกาสมากที่สุดที่จะคว้ารางวัลโนเบล

โดยในปีต่างๆ ก่อนศักราช 2018 ห้วงเวลาซึ่งกวีวัยดึกท่านนี้ยังไม่เผชิญกับข้อกล่าวหาคุกคามทางเพศนั้น ในเวลาใกล้จะประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม บรรดานักข่าวสารพัดค่ายใหญ่น้อยจะไปออกันที่หน้าบ้านท่านโค อึน เผื่อว่าปุบปับจะมีการประกาศนามของท่านโค อึน ออกมาจากประเทศสวีเดน (รางวัลโนเบลไม่ประกาศชอร์ตลิสต์ให้ชาวโลกได้ลุ้นได้เชียร์กันล่วงหน้าว่าท่านใดในประเทศไหนเข้าข่ายจะได้เป็นผู้ชนะประจำปี)

แต่สำหรับหน้าบ้านของ “ตัวจริง เสียงจริง” อย่าง ฮัน คัง ยังไม่เคยดึงดูดกองทัพนักข่าวเหมือนดั่งท่านโค อึน นิวยอร์ไทมส์ระบุอย่างนั้น

ในปี 2018 ที่กวีโค อึน อื้อฉาวหนักนั้น การเปิดโปงเป็นไปอย่างเปี่ยมชั้นเชิงทีเดียว โดยเล่นงานกันผ่านบทกวีฝีมือเลอเลิศ ชื่อว่า “สัตว์ร้ายจอมปีศาจ” อันเป็นผลงานของนักประพันธ์หญิง ฉอย ย็องมี

พลันที่ “สัตว์ร้ายจอมปีศาจ” ถูกตีพิมพ์บนนิตยสารวรรณกรรม ฮวาน กแฮ นั้น สังคมช็อกกันสุดๆ กับเนื้อหาที่เล่าถึงชายผู้ทรงเกียรตินามว่า “อืน” En ผู้มีภูมิหลังชีวิตตรงกับคุณปู่โค อึน ตลอดจนเปิดเผยพฤติกรรมหลังฉากที่อัปยศด้วยการประพฤติชั่วทางเพศ

ภายในบรรยากาศสังคมที่กระแสเฟมินิสต์เชี่ยวกราก และการต่อสู้ไม่ยอมรับวัฒนธรรมกดขี่สตรี ตลอดจนความไม่เป็นธรรมต่อแม่หญิง กำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มแข็ง การจุดพลุโดยบทกวี “สัตว์ร้ายจอมปีศาจ” ได้รับความสนับสนุนและการต่อยอดอย่างอื้ออึง

ในเมื่อสังคมฮือฮาสนใจและแสดงความเห็นใจเหยื่อของกวีมือถือสากปากถือศีลกันอย่างท่วมท้น สื่อมวลชนจึงเฮละโลสืบเสาะข้อมูลขึ้นมารายงานวันแล้ววันเล่า ส่งผลให้สตรีหลายท่านในแวดวงวรรณกรรมมั่นหน้ามั่นใจออกมาช่วยกันเปิดโปง กลายเป็นกระแส #MeeToo ว่าเคยถูกกวีโค อึน ใช้อำนาจบังคับให้ต้องยอมพลีกายถวายเซ็กซ์ เรื่องราวถูกสืบเสาะและวิพากษ์วิจารณ์ไปใหญ่โต จนชัดเจนเหลือเกินว่าข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นเรื่องจริง

จอมกวีโค อึน ผู้เน่าเฟะแพทย์ไม่รับรักษา ถูกสังคมลงโทษหนักถึงระดับที่ว่า มีการถอดถอนบทกวีของโค อึน ออกจากตำราเรียนกันเลยทีเดียว

ในการนี้ สำหรับ ฮัน คัง และนักเขียนหญิงในเกาหลีใต้จำนวนมากมาย “งานวรรณกรรมเป็นช่องทางหนึ่งในการคัดค้านและต่อต้านความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม” กล่าวโดย บอร่า ชุง เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้นชุด “กระต่ายต้องคำสาป” หรือก็คือ Cursed Bunny ซึ่งปรากฏในเวอร์ชันภาษาอังกฤษเมื่อปี 2022 ทั้งนี้ ผลงานของ บอร่า ชุง เป็นหนึ่งในงานของเหล่านักเขียนหญิงที่ ฮัน คัง นำไปเขียนแนะนำไว้บนเว็บไซต์ข่าวของนิวยอร์กไทมส์เมื่อปีที่แล้ว
รู้หน้า-ไม่รู้ใจ: กวีคนดังระดับปูชนียบุคคลของสาธารณรัฐเกาหลี นามว่า โค อึน วัย 91 ปีบริบูรณ์เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา มีชีวิตที่ซูเปอร์ดรามาไม่น้อยหน้านวนิยายเรื่องใดๆ โค อึน เป็นลูกชาวนายากจน แต่มีพรสวรรค์ด้านภาษา และเริ่มเขียนโคลงกลอนตั้งแต่อายุไม่มาก ประสบการณ์อันน่าสยดสยองในฐานะคนขุดหลุมฝังศพเมื่อห้วงสงครามเกาหลี ทำให้ โค อึน ถึงกับกรอกหูตนเองด้วยน้ำกรดเพื่อจะไม่ต้องได้ยินเสียงของสงคราม!! โค อึน บวชเป็นพระนิกายเซน และสึกออกมาในปี 1962 แต่ก็ต้องประสบกับหนึ่งทศวรรษแห่งวัย 30 อันทุกข์ตรม ขณะที่สามารถผลิตผลงานบทกวีและนวนิยายที่ได้รับคำชมเชย แต่ก็จ่อมจมในพิษสุรา และในปี 1970 ได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยยาพิษ ในเวลาต่อมา เมื่ออายุครบ 39 ปี หรือก็คือปี 1972 โค อึน เข้าร่วมขบวนการตื่นตัวทางการเมืองและร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลปักจุงฮี ส่งผลให้ โค อึน ถูกจับขังคุกและถูกซ้อมและถูกทรมาน จนกระทั่งได้เป็นอิสระในปี 1982 หลังจากนั้น ก็แต่งงานกับอาจารย์วรรณคดีอังกฤษ และย้ายไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดด้วยกันกับภรรยาและลูกสาว โดยมีการผลิตผลงานชั้นเยี่ยมออกมาจำนวนมาก ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่เปี่ยมสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานหลายๆ ชิ้นที่ภรรยาช่วยถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ ได้รับการจัดพิมพ์และจำหน่ายในประเทศต่างๆ และประสบความสำเร็จ พร้อมกับสร้างชื่อเสียงในทางระหว่างประเทศ ในเวลาเดียวกัน โค อึน ยังมาเคลื่อนไหวในแวดวงนักเขียนชั้นนำของประเทศด้วย เมื่อเป็นที่ยกย่องในฐานะกวีของประชาชน และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย โค อึน ก็เริ่มมีเรื่องประพฤติผิดทางเพศ พัฒนาสู่การล่วงละเมิดทางเพศ แต่สามารถปกปิดไว้ได้อย่างมิดชิด จนกระทั่งปี 2018 โค อึน ณ วัย 85 ปี ถูกเปิดโปงด้วยบทกวีชั้นเยี่ยมของเหยื่อสาวท่านหนึ่ง ในการนี้ เมื่อสังคมแสดงปฏิกิริยารุนแรงต่อ โค อึน เหยื่อรายอื่นๆ จึงทยอยกันออกมาร่วมเปิดโปง หลังจากนั้น งานที่ผลิตออกมา 2 ชุด ถูกคว่ำบาตร ยอดขายแป็ก ตัวอย่างบทกวีแนวไฮกุ ที่ได้รับคำยกย่อง: บางคนบอกว่าสามารถระลึกชาติได้นับพันปี; บางคนบอกว่าเคยไปเยือนอนาคตจะมาถึงในอีกนับพันปี; ในวันวารที่สายลมแรง; ผมยืนรอรถเมล์
พลันที่เป็นข่าวฮือฮาแพร่กระจายไปทั่วสาธารณรัฐเกาหลีว่า ฮัน คัง ชนะรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ร้านหนังสือทั้งหลายรีบนำบรรดาผลงานเรื่องต่างๆ ของเธอมาจัดแสดงอย่างคึกคัก ด้านนักอ่านผู้ภาคภูมิใจในเกียรติยศของประพันธกรชาวเกาหลีด้วยกัน ก็แห่กันเลือกซื้อหาไปครอบครอง
The Vegetarian เวอร์ชันภาษาเกาหลีที่อยู่ในมือของหนุ่มสาวคู่นี้เป็นงานประพันธ์ของ ฮัน คัง ที่ขายได้น้อยกว่าเล่มเด่นอย่าง Human Acts ทั้งนี้ หน้าปกนี้ถูกจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเล็กๆ ณ ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน
“The Vegetarian” เป็นเรื่องที่ขายดีที่สุดในทุกๆ เรื่องของ ฮัน คัง ภายในตลาดหนังสือที่ไม่ใช่เกาหลี
‘ฮัน คัง’ เกิดและโตบนแผ่นดินเผด็จการทหารจอมโหด 3 ยุค เธอมีข้อมูลมากมายเพราะอยู่ในแวดวงนักเขียนและปัญญาชน

ชาวโสมขาวออกจะหมกมุ่นกับเกียรติยศบนเวทีโลกหนักหนาทีเดียว นิวยอร์กไทมส์ตั้งข้อสังเกตไว้ และขยายความว่า ไม่ว่าจะเป็นเหรียญทองโอลิมปิก หรือรางวัลโนเบล ชาวโสมขาวจะจริงจังกันทั้งประเทศ

เมื่อมีการสร้างเกียรติยศให้แก่ประเทศชาติ มวลมหาประชาชนจึงแห่กันไปอุดหนุน พร้อมกับสมัครใจเป็นติ่งผู้จงรักและภักดี ดังเห็นได้ว่าพลันที่ ฮัน คัง นักเขียนขวัญใจประชาชน ชนะรางวัลระดับจักรวาลอย่างโนเบลวรรณกรรม ยอดขายผลิตภัณฑ์วรรณกรรมของเธอพุ่งทะยานด้วยการสนับสนุนจากแฟนคลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่คนรุ่น 20+ จดจนกลุ่ม 40+

เมื่อแฟนานุแฟนทวีตัวขึ้นมามหาศาลในชั่วเวลาไม่ทันจะข้ามวัน บรรดาหนังสือขายดีระดับท็อป 10 ตามบุ๊กช็อปทั้งปวงไม่ว่าจะร้านออนไลน์หรือร้านออฟไลน์ เป็นหนังสือของ ฮัน คัง เกือบทั้งหมด คือ 9 ปกกันเลยทีเดียว


กองทัพนักอ่านที่แห่ไปสอยงานประพันธ์ของ ฮัน คัง คนละ 2-3 ปกบ้าง 4-5 ปกบ้าง ซึ่งไม่ว่าจะสอยไปอ่าน หรือเอาไปเพิ่มกองดองเพื่อความหรูงามของตู้ ล้วนแต่จะได้ตาสว่างกับโลกรอบตัว

ผลงานของประพันธกรนาม ฮัน คัง มีความเหนือชั้นที่ไม่ธรรมดาเลย โดยนิวยอร์กไทมส์ถึงกับนำเอาเธอไปเทียบชั้นกับอดีตประธานาธิบดีคิม แดจุง กันเลยทีเดียว

โดยนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า ก่อนวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2024 สาธารณรัฐเกาหลีเคยได้รับเกียรติยศแห่งรางวัลโนเบลเพียงคราเดียว เมื่อประธานาธิบดีคิม แดจุง (ดำรงตำแหน่งเมื่อ1998-2003) บุคคลที่ประชาชนรักและศรัทธา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2000 โดยเป็นการชนะรางวัลระดับโลกนี้ด้วยผลงานการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย อีกทั้งผลงานความพยายามสร้างความปรองดองสมานฉันท์และสันติภาพกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือก็คือเกาหลีเหนือนั่นเอง

ทั้งผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพ คือ ท่านคิม แดจุง และทั้งผู้ชนะรางวัลโนเบลวรรณกรรม คือ ประพันธกร ฮัน คัง ต่างมีความผูกพันลึกซึ้งอยู่กับวิกฤติการณ์ทหารปราบปรามเข่นฆ่าสังหารหมู่กวาดล้างนักศึกษาประชาชนผู้อุทิศตนและพลีชีพเพื่อประชาธิปไตย ตลอด 30 ปีแห่งยุคเผด็จการท็อปบู้ททมิฬของ 3 ประธานาธิบดีสุดโหด (1962-1979; 1980-1988; และ 1988-1993)

โดย 1 ใน 3 นั้นคือเผด็จการชุน ดูฮวาน เจ้าของผลงานสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนในเมืองกวางจูกว่า 2,000 ศพเมื่อ 18-27 พฤษภาคม 1980 ด้วยการส่งทหารเข้าระดมยิง เด็ดชีพ กวาดล้างผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐประหาร


ในการนี้ กวางจู ซึ่งเป็นจุดการชุมนุมต่อต้านเผด็จการที่ร้อนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ นั้น เป็นบ้านเกิดของ ฮัน คัง ในจังหวัดช็อลลาใต้ ในเวลาเดียวกัน จังหวัดช็อลลาใต้เป็นฐานที่มั่นอันแข็งแกร่งของท่านคิม แดจุง ผู้ซึ่งทำงานเพื่อประชาชนในฐานะผู้นำนักการเมืองฝ่ายค้าน

กวางจูได้กลายเป็นตำนานความกล้าหาญแห่งการลุกฮือขึ้นต่อสู้เผด็จการ โดยจำนวนของนักศึกษาและประชาชนทวีขึ้นจากพันกว่าราย สู่หมื่นกว่ารายภายในไม่กี่วัน มีการจับอาวุธขึ้นปกป้องขบวนการต่อต้านรัฐประหาร แต่ก็ถูกสังหารหมู่เมื่อการชุมนุมดำเนินไปได้ 10 วัน

เหตุการณ์ลุกฮือขึ้นสู้เผด็จการชุน ดูฮวาน ปิดฉากลงด้วยโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่บนคาบสมุทรเกาหลี แผ่นดินฤๅษีที่ต้องนองเลือดเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงกระหายอำนาจของนายพลชุน ดูฮวาน
บรรยากาศการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารโดยนายพลชุน ดูฮวาน ซึ่งเริ่มจากพันกว่าคน แล้วทวีตัวเป็นเรือนหมื่นภายในไม่กี่วัน ณ เมืองกวางจู เดือนพฤษภาคม 1980
อีกสองภาพประวัติศาสตร์แห่งเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นสู้รัฐประหาร ณ เมืองกวางจู ปี 1980 ที่ยืนยันถึงความกล้าหาญที่จะต่อสู้เผด็จการทหาร
คิม แดจุง อดีตประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นผู้ที่ประชาชนนับถือศรัทธา โดยท่านคิมปฏิบัติหน้าที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่งัดข้อกับรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างไม่ลดละ แม้จะถูกกุมขังและถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต ด้วยข้อกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้ผู้คนขัดขืนอำนาจรัฐบาล และฝักใฝ่เกาหลีเหนือ ยิ่งกว่านั้น ในช่วงปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีระหว่างปี 1998-2003 ได้สร้างผลงานการปฏิรูปไว้อย่างมากมาย เมื่อวาระประธานาธิบดีของท่านคิมสิ้นสุด ท่านอายุ 79 ปี หลังจากนั้น 6 ปีก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา
ในปี 1970 ฮัน คัง ถือกำเนิดมาเป็นลูกสาวนักเขียนยอดฝีมือแต่ไส้แห้ง ฮัน ซึงวอน โดยที่ว่า 9 ปีแรกของชีวิต ฮัน คัง เป็นห้วง 9 ปีสุดท้ายของชีวิตประธานาธิบดีจอมเผด็จการท็อปบู้ททมิฬ ปัก จุงฮี ที่ครองอำนาจผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐเกาหลีในระหว่างปี 1962-1979 และจบลงด้วยการถูกลอบสังหาร

และในอีก 13 ปีถัดมา ฮัน คัง เจริญวัยเป็นทีนเอจในยุคของเผด็จการชุน ดูฮวาน ที่โหดเหี้ยมเกินกว่าทุกเผด็จการ โดยนายพลชุน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่างศักราช 1980-1988 และในปี 1980 ที่เผด็จการชุน ดูฮวาน ก่อรัฐประหารและส่งทหารไปสังหารหมู่เมืองกวางจู นั้น ฮัน คัง ในวัย 10 ปีโตพอจะรับรู้ถึงความปวดร้าวของสังคมจากเหตุการณ์เหี้ยมเกรียมดังกล่าว

นอกจากนั้น ฮัน คัง ยังเป็นพยานถึงภยันตรายจากเผด็จการโรห์ แตวู ต่อเนื่องอีก 5 ปีที่ศึกษาเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยภายในยุคสมัยของประธานาธิบดีโรห์ แตวู ตั้งแต่ปี 1988-1993

ความรับรู้ของธิดานักเขียนคนดัง ถูกสาดซ้ำๆ อยู่ในเรื่องราวของการใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษาและปัญญาชนผู้ต่อต้านเผด็จการ ตลอดจนการรังแกนักการเมืองฝ่ายค้าน อย่างคิม แดจุง ด้วยการจับขังคุก

บาดแผลฝังลึกในดวงใจของ ฮัน คัง ที่เกี่ยวข้องอยู่กับเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู 1980 ขับเคลื่อนให้เธอผลิตนวนิยายเรื่อง Human Acts (2014) ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของตัวเธอบนแผ่นดินโสมขาว โดยในห้วงดังกล่าว เธอมีความพร้อมอย่างเต็มที่ หรือก็คือสะสมฝีมือมาอย่างต่อเนื่อง 20 ฤดูสปริงนับจากเริ่มอาชีพนักเขียนด้วยเรื่องสั้น The Scarlet Anchor ที่ชนะเลิศการแข่งขันรางวัลวรรณกรรมโซล ชิมมุน สปริง ลิเตอร์รารี คอนเทสต์ ประจำปี 1994 และหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด A Love of Yeosu ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1995 นอกจากนั้นเธอได้ผลิตผลงานขึ้นมามากกว่า 10 ชิ้น และคว้ารางวัลเกียรติยศหลายรายการใหญ่

และบาดแผลฝังลึกในดวงใจของผู้คนเกาหลีใต้จากเหตุการณ์พฤษภาคม 1980 ก็มีส่วนอย่างยิ่งในการหนุนส่งให้ Human Acts ของ ฮัน คัง ได้การตอบรับสูงสุดจากมหาชน ซึ่งชื่นชมว่านวนิยายเรื่องนี้ที่ดำเนินอยู่บนวิกฤติการณ์ทหารประหัตประหารนักศึกษาประชาชนต่อเนื่อง 10 วัน พร้อมกับมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ นั้น เป็นดั่งว่าจะนำชีวิตของพวกเขาไปร้อยเรียงเป็นนวนิยายแห่งชีวิตของประเทศ

ในเวลาเดียวกัน คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันเข้าร่วมต่อสู้ ก็ได้อารมณ์ร่วมกับตำนานความกล้าหาญของบรรพชนที่พลีชีพเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ทั้งนี้ จิตวิญญาณแห่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมถูกโหมให้โลดแล่นในความตระหนักรู้ของผู้คนอย่างยั่งยืน


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้อยคำในตอนหนึ่งของ Human Acts ที่ ฮัน คัง จดจารไว้ว่า

สายฝนวันนี้ คือ น้ำตาอันกลั่นจากดวงวิญญาณของผู้จากจร
เมื่อเธอตายไป ฉันไม่อาจจัดงานศพให้เธอ
แต่ดวงเนตรของพวกเราที่เคยเห็นเธอ คือสถานแห่งความทรงจำถึงเธอ
กรรณาของพวกเราที่เคยได้ฟังเสียงของเธอ คือสถานแห่งความทรงจำถึงเธอ
ปัปผาสะของพวกเราที่เคยสูดลมหายใจของเธอ คือสถานแห่งความทรงจำถึงเธอ
ภาพนี้เป็น Human Acts ฉบับภาษาอังกฤษ นอกจากเวอร์ชันนี้แล้ว ยังมีการแปลและจัดพิมพ์ในภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาเกาหลีอีก ไม่น้อยกว่า  13 ภาษา
ภาพใหม่ล่าสุดของคุณพ่อฮัน ซึงวอน นักประพันธ์คนดังวัย 84 ปี เป็นรูปที่ช่างภาพสำนักข่าวยอนฮับถ่ายไว้เมื่อ 11 ตุลาคม 2024 ที่ด้านหน้าสถาบันการประพันธ์ในอำเภอชังฮึน จังหวัดช็อลลาใต้
ความเฟื่องฟูของ Human Acts ส่งผลให้รัฐบาลของประธานาธิบดีพัค กึนฮเย (2013-2017 ธิดาของเผด็จการปักจุงฮี - พ้นตำแหน่งเพราะถูกถอดถอน) เคืองหนักมาก จึงมีการแปะป้าย “แบล็กลิสต์” เล่นงาน ฮัน คัง และบรรดานักเขียน ศิลปิน และผู้กำกับภาพยนตร์ที่ถูกจิ้มว่า ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล โดยชาว B-Listers ถูกกีดกันออกจากโปรแกรมส่งเสริมสนับสนุนต่างๆ ที่ภาครัฐจัดสรรให้

นิวยอร์กไทมส์รายงานอย่างนั้น พร้อมระบุว่าลิสต์คว่ำบาตรนี้ ไม่มีการประกาศแจ้งทราบต่อสาธารณชน แต่ คัง ยูจุง สมาชิกรัฐสภาในฝั่งพรรคฝ่ายค้านนำมาเปิดเผยในวันประกาศเกียรติยศของ ฮัน คัง

ฮัน คัง บอกว่าเธอถูกเล่นงานเพราะ Human Acts แตะไปถึงเผด็จการฝ่ายขวาจัดที่ปราบปรามสังหารประชาชน และครอบคลุมถึงเผด็จการปัก จุงฮี ผู้เป็นบิดาของพัค กึนฮเย ด้วย นิวยอร์กไทมส์รายงานอย่างนั้น

นอกจากนั้น นวนิยายชิ้นใหม่ชื่อเรื่องว่า “We Do Not Part” (2021 - โดยเวอร์ชันภาษาอังกฤษจะวางแผงในปีหน้า 2025) ซึ่งเจาะลึกถึงการสังหารหมู่ประชาชนบนเกาะเจจู ก็เป็นที่ขัดเคืองของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลฝ่ายขวาจัด ที่ยังเรืองอำนาจแอบแฝงอยู่อย่างมหาศาล เพราะไม่ต้องการให้เรื่องราวอื้อฉาวในอดีตถูกขุดคุ้ยขึ้นสู่ความรับรู้ของสาธารณชน

ส่วนสำหรับ “The Vegetarian” งานของ ฮัน คัง ที่ได้รับความนิยมโดดเด่นที่สุดในวงการนักอ่านต่างประเทศนั้น เธอกลับไม่ใคร่จะใส่ใจเอ่ยถึง
นวนิยายเรื่องล่าสุดของ ฮัน คัง How We Do Not Part ซึ่งอยู่ในเวอร์ชันอังกฤษ และจะเริ่มขายต้นปี 2025 ส่วนสำหรับเวอร์ชันภาษาเกาหลี ออกวางตลาดตั้งแต่ปี 2021
หลายฝ่ายบอกว่าการที่ ฮัน คัง พุ่งขึ้นไปคว้ารางวัลโนเบลวรรณกรรม เป็นปรากฏการณ์ม้ามืดที่มักที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ กับรางวัลโนเบลสาขานี้ ดังเห็นได้ว่าไม่มีสัญญาณใดๆ ชี้บ่งชี้ใบ้ไว้ให้สังเกตเลย  ทั้งนี้ การพิจารณารางวัลโนเบลจะไม่มีการประกาศ Short List ให้ชาวโลกได้ลุ้น โดยในทางปฏิบัติ จะมี Potential List ซึ่งเป็นอะไรที่กึ่งๆ มโนไปตามกิเลศเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อราชบัณฑิตยสถานสวีเดนประกาศว่า ฮัน คัง เป็นผู้ชนะรางวัลในปีนี้ บางเว็บไซต์ออกปากเลยว่า ชื่อ ฮัน คัง ไม่เคยไปปรากฏ์ในประมาณการของใครเลย แต่ในเวลาเดียวกัน บรรดาเซียนที่มักทำนายไม่แม่นและปากกาหักเป็นประจำ ก็ยอมรับกันตรงๆ ว่าชื่อของท่านใดถูกอวยว่าจะคว้ารางวัล ชื่อนั้นจะไม่มีทางสมปรารถนาเลย อาทิ ในกรณีของท่านฉาน เสี่ว์ย ประพันธกรสตรีจีน วัย 71 กะรัต เข้ารอบสุดท้ายของ Potential List มาแล้วไม่รู้กี่ต่อกี่ปีแล้ว ก็ได้แต่รางวัลปิ๋วทุกปีไป นอกจากนั้น สุดยอดประพันธกรฝ่ายชายจากญี่ปุ่น อย่างท่านมูราคามิ ได้รับการอวยทุกปี ต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว ก็ตกที่นั่งแห้วสนิทเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางค่ายอนุโมทนากับ ฮัน คัง แบบเทใจ พร้อมกับชี้ว่าไม่ต้องสงสัยเลยว่านักเขียนหญิงยอดเก่งของเกาหลีใต้ มีศักยภาพสูงส่งและคู่ควรกับรางวัลโนเบลวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง แต่จุดสำคัญของปรากฏการณ์ม้ามืดนี้ อยู่ในประเด็นที่ว่า ฮัน คัง ทำงานวรรณกรรมเพื่อต่อต้านเผด็จการท็อปบู้ททมิฬ เธอจึงมีความเสี่ยงสูงว่าจะถูกเช็กบิล รางวัลเกียรติยศนี้จะช่วยคุ้มครองเธอได้ เพราะรางวัลโนเบลทำให้ทุกคนรู้จักเธอ เธอมิใช่โนบอดี ที่จอมอิทธิพลยิ่งใหญ่รายใดจะมากลั่นแกล้งรังแกได้
ขณะให้สัมภาษณ์แก่ จนท.โนเบลสวีเดน ‘ฮัน คัง’ แทบไม่พูดถึง The Vegetarian งานป๊อปปูลาร์ที่สุดในตลาด US & ยุโรป โดยเน้นที่ We Do Not Part กับ Human Acts

ในคืนพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2024 หลังจากทานอาหารค่ำกับลูกชายที่บ้านในกรุงโซลตามปกติแล้ว และได้ทราบข่าวการชนะรางวัลแล้วนั้น ฮัน คัง ได้รับโทรศัพท์จาก เจนนี จากราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ที่ติดต่อเข้าไปขอสัมภาษณ์ โดยสนทนากันประมาณ 8 นาที

ทั้งนี้ ในช่วงกลางๆ ของการคุยสาย เจนนีถามขึ้นว่า สำหรับนักอ่านที่จะเริ่มอ่านงานของฮัน คัง เธอจะแนะนำให้เริ่มจากเล่มไหน

“ก็เป็นธรรมดานะคะที่นักเขียนจะอยากให้เริ่มอ่านเรื่องที่ออกมาใหม่ที่สุด คือ We Do Not Part ที่จะวางแผงต้นปี 2025 และก็เรื่อง Human Acts ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง We Do Not Part โดยตรง

“นอกจากนั้น ก็เรื่อง The White Book ค่ะ เป็นเรื่องราวค่อนข้างจะส่วนตัวของดิฉัน แบบว่าเป็นงานแนวอัตชีวประวัติ

“พ้นจากนี้ ก็อาจจะอ่าน The Vegetarian” ฮัน คัง กล่าวกับเจนนี ด้วยน้ำเสียงแผ่วและนุ่มนวล โดยภาษาอังกฤษของ ฮัน คัง คือดีมาก เป๊ะมาก แม้จะเหน่อเล็กน้อย แต่เยี่ยมกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนเกาหลีทั่วไป

ทั้งนี้ นอกจากที่ ฮัน คัง จะได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษจากการอ่าน และการศึกษาวิชาเอกวรรณคดีในระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนได้รับอิทธิพลของคุณพ่อผู้เป็นนักเขียนและปัญญาชนแล้ว เธอยังได้ทุนการศึกษาไปเข้าคอร์สพัฒนาการเขียนสำหรับนักเขียนต่างชาติที่มหาวิทยาลัยไอโอวา ในปี 1998 อันเป็นโปรแกรมครึ่งปีที่เอื้อให้ได้ใช้ชีวิตในสังคมอเมริกันแบบเต็มเวลา

เมื่อ ฮัน คัง เอ่ยถึง The Vegetarian ขึ้นมาในที่สุด เจนนีมีสุ้มเสียงกระตือรือร้นทันที ประมาณว่ารออยู่นานแล้ว และทำการสัมภาษณ์ถึงเรืองนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง โดยเจนนีเปิดประเด็นว่า นวนิยายเรื่องนี้มีคุณค่าต่อตัว ฮัน คังเพียงใด

ฮัน คัง ซึ่งพูดช้าอยู่แล้ว กล่าวตอบเจนนีในจังหวะจะโคนที่ช้ามากขึ้น ลังเลมากขึ้น ว่า

“ดิฉันเขียนเรื่องนี้อยู่ 3 ปี และเป็นช่วงเวลาที่หนักด้วยบางสาเหตุค่ะ ดิฉันคิดว่าตนเองต้องพยายามมากที่จะกำหนดตัวตนของนางเอก และก็ผู้คนรอบๆ เธอ แล้วยังในส่วนของภาพลักษณ์ของต้นไม้ กับสภาพยามวิกาล แล้วก้อ ทุกสิ่งทุกอย่างเลยค่ะ”

อาจจะเพราะได้คำตอบให้แก่คำถามสำคัญแล้ว เจนนีก็ยุติการสนทนา
นวนิยายเรื่อง Human Acts เวอร์ชันภาษาอังกฤษ มีหน้าปกหลายแบบ เพราะขายดี จึงมีการตีพิมพ์ใหม่หลายครั้ง
ในภาพนี้เป็นปกของนวนิยายเรื่อง The Vegetarian ในภาษาอังกฤษ (ปกสีส้ม) กับภาษาฝรั่งเศส (ปกสีฟ้า)
ส่องนวนิยายเรื่องเด่นของ ‘ฮัน คัง’ เจ้าของแนวคิดน่าทึ่ง ที่จะไม่จัดงานแถลงข่าว หรืองานเฉลิมฉลองการคว้ารางวัลวรรณกรรมรายการยิ่งใหญ่ระดับโลก

The Vegetarian นวนิยายของ ฮัน คัง ซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อห้วงที่วัยของเธออยู่ที่ 37 กะรัต ดังนั้น ก็จะมีบรรยากาศดรามาเชือดเฉือนน้ำใจกันและกันภายในครัวเรือนมากมาย อีกทั้งยังมีมิติของความเซอร์เรียลลิสติก กึ่งจะเป็นแนวไซโค กึ่งจะเป็นแนวพลังจิต ที่เร้าใจอยากใคร่รู้ใคร่ติดตาม อันเป็นสีสันที่ตรึงผู้อ่านให้โลดแล่นไปกับชะตากรรมของนางเอกอย่างที่ยากจะหยุดอ่าน จนกว่าจะแล้วใจ

งานแนวเซอร์เรียลลิสติก หลอนๆ มีสภาวะจิตเภท มีวิญญาณเป็นตัวละครเด่น เป็นอะไรที่คนอเมริกันและชาวยุโรปสนใจเสพกันมหาศาล ยอดขายในตลาด USA กับยุโรป จึงบ่งบอกความป๊อปปูลาร์ที่สูงสุด เหนือเรื่องอื่นๆ อีก 5 เรื่องที่ถูกแปลและพิมพ์จำหน่ายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่สาธารณรัฐเกาหลี

ขณะที่งานเขียนของ ฮัน คัง ดำเนินอยู่กับชะตากรรมเจ็บปวดและร้าวรานใจไปกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่เธอก็สะท้อนประเด็นการบูลลีและริดรอนสิทธิสตรีด้วย นิวยอร์กไทมส์ตั้งประเด็นไว้อย่างนั้น โดยชี้ว่าใน The Vegetarian ซึ่งนางเอกตัดสินใจที่จะงดเนื้อสัตว์ ที่แท้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านระบบผู้ชายเผด็จการใกล้ๆ ตัว - ใกล้ๆ หัวใจ

ด้วยการเดินเรื่องในสไตล์ที่เล่าผ่านคำพูดและความคิดของผู้ชาย 3 ราย อันได้แก่ สามีของนางเอก พี่เขย และคุณพ่อ ผู้อ่านจะสะท้านสะเทือนกับสภาพการณ์ในระหว่างบรรทัดว่า ผู้ชายทั้งสามไม่ได้รัก ไม่ได้เข้าใจ ไม่ได้เคารพในตัวตนของนางเอกเลย อีกทั้งยังกดดันจิกกัดแรงๆ เพื่อบังคับให้นางเอกยุติจิตสำนึกของเธอ จิตสำนักที่บุรุษทั้ง 3 ต่างรู้สึกว่า เธอทำให้ครอบครัวได้รับความอับอายในสายตาของใครต่อใคร
The Vegetarian ถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์ โดยภาพบนเป็นตอนที่นางเอกถูกบิดาคีบเนื้อมา สั่งให้เธอรับประทาน เธอบอกบิดาว่าลูกทานไม่ลง หลังจากนั้น นางเอกถูกบิดาตบตี ขณะที่สามีของเธอกับพี่เขยของเธอช่วยกันล็อกตัวเธอไว้ แล้วผู้เป็นบิดาก็จับเนื้อยัดใส่ปากลูกสาวดังปรากฏตามภาพล่าง เรื่องราวเหล่านี้คือภาพสะท้อนถึงการที่เหล่าเผด็จการครัวเรือนใช้กำลังบังคับสตรีที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง

ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องเข้มข้น The Vegetarian

นวนิยายเรื่อง นักมังสวิรัติ จึงทำหน้าที่สะท้อนไปถึงความรุนแรงภายในครัวเรือนของชาวเกาหลี โดยผู้หญิงถูกกดขี่ข่มเหงโดยสามี คุณพ่อ และญาติพี่น้องเพศชาย ทั้งพฤติกรรมข่มเหงน้ำใจ ไปจนถึงขั้นลงไม้ลงมือตบตี สภาพการณ์น่าสะเทือนใจนี้มีต้นตอจากจอมเผด็จการในครัวเรือน ที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมผู้ชายครองความเป็นจ้าวนั่นเอง

นิวยอร์กไทมส์บอกว่า เนื้อหาของ The Vegetarian ที่ประพันธกรนักมังสวิรัติอย่าง ฮัน คัง นำเสนอนั้น ได้แรงบันดาลใจจาก “ความรุนแรงที่มนุษย์ใช้รังแกผู้อื่น” อันเป็นอไรที่เกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยตลอดประวัติศาสตร์ชาติเกาหลี

ฮัน คัง ซึ่งมีวัตรปฏิบัติแบบมังสวิรัติ บอกว่าเธอรู้สึกผิดที่บริโภคเนื้อสัตว์ ส่งผลให้ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งโครงหลักของ “นักมังสวิรัติ” ซึ่งเดินเรื่องโดยโยงไปถึงการสังหารหมู่ในเมืองกวางจู บ้านเกิดของ ฮัน คัง ในจังหวัดช็อลลาใต้ และในภายหลัง ก็ถูกพัฒนาไปเขียนนวนิยายเรื่อง Human Acts นิวยอร์กไทมส์บอกอย่างนั้น

The Vegetarian ปรากฏตัวในบรรณพิภพเกาหลีเมื่อปี 2007 แล้วถูกนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษและจัดพิมพ์จำหน่ายในตลาดของประเทศต่างๆ ในปี 2015 ก่อนจะคว้ารางวัลสุดยอดวรรณกรรมระดับโลกอย่าง The Man Booker International Prize ในปี 2016

วงการวรรณกรรมเกาหลีฮือฮากันมากเมื่อ The Vegetarian ผ่านเข้ารอบ Short List ชิงชนะเลิศ ดังนั้น ในวันประกาศผล สำนักพิมพ์ชางบีที่ดูแลจัดพิมพ์วรรณกรรมให้ ฮัน คัง จัดงานฉลองชัยรอไว้เลย แล้วก็ไม่ผิดหวัง โดยนักข่าวทั้งสื่อทีวี สื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ จะแฮปปีเกินใคร เพราะได้ข่าวใหญ่ไปฝากประชาชน ฮัน คัง ถูกถ่ายภาพหนักมาก ประมาณเดียวกับนักแสดงที่ชนะรางวัลออสการ์กันเลยทีเดียว ทั้งนี้เห็นได้ว่าเธออึดอัดกับบรรยากาศ แต่ก็ฝืนอดทนปฏิบัติหน้าที่ทุกสิ่งอย่างที่ทีมงานสำนักพิมพ์และสื่อมวลชนต้องการ
ในวันประกาศผลการประกวด The Man Booker International Prize 2016 ซึ่ง The Vegetarian ของ ฮัน คัง เป็นเรื่องที่ชนะเลิศนั้น มีการถ่ายภาพ ฮัน คัง กันอย่างครึกโครม รวมถึงภาพนี้ด้วย
บรรยากาศในงานฉลองรางวัล The Man Booker International Prize 2016 ซึ่งมีสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวกันอย่างเอิกเกริก
ฮัน คัง เปิดโอกาสให้นักข่าวสัมภาษณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ตัวเธอก็รักษาเอกลักษณ์ของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น คือ การพูดช้า ระมัดระวังถ้อยคำ และน้ำเสียงนุ่มนวล เอกลักษณ์นี้ของเธอเป็นที่ถูกใจของนักอ่าน
เมื่อเล่าถึงห้วง 3 ปีที่ประพันธ์นวนิยายเรื่อง Human Acts ฮัน คัง บอกว่า

“ความรู้สึกซึ่งปรากฏในใจบ่อยที่สุดขณะเขียน คือ ความเจ็บปวด เป็นความเจ็บปวดท่วมท้นค่ะ ฉันร้องไห้แทบจะทุกวัน”

น้ำตาเหล่านั้นกลั่นมาจากความทุกข์ตรมของตัวละคร ความทุกข์ตรมที่ถูกย่ำยี

Human Acts เป็นนวนิยายที่พาให้ท่านผู้อ่านถึงกับดวงใจแตกสลายไปกับชะตากรรมของผู้คนในเหตุการณ์สังหารหมู่ในกวางจู 1980 และที่มากกว่านั้นคือ ผู้คนที่รอดชีวิตไปได้พร้อมกับบาดแผลตราติดในวิญญาณ

ทั้งนี้ ฮัน คัง เลือกที่จะเล่าถึงเรื่องราวของบรรดาเหยื่อที่ว่า แม้จะไม่ตายในการสังหารหมู่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการลุกฮือขึ้นต่อสู้เผด็จการทหาร ในเวลาเดียวกัน เม็ดคำของ ฮัน คัง ฉายให้เห็นภาพลึกๆ ว่าบาดแผลที่ตราตรึงจากสิ่งที่ต้องประสบนั้น ช่างลึกและรวดร้าวเหลือเกิน


ฮัน คัง เล่าถึงการตายในความทารุณโหดร้ายได้น่าสลดสังเวช เธอพรรณนาผ่านความรับรู้ของ คัง ดองโฮ หนุ่มน้อยอาสาสมัครวัยเพียง 15 ปี ที่เข้าไปช่วยจัดเรียงศพของเหยื่อ 89 ราย

“ภารกิจของเธอไม่มีอะไรซับซ้อน คนอื่นๆ เขาทำในส่วนที่ยากไปหมดแล้ว เธอก็แค่เอาพลาสติกคลุมแผ่นไม้รองศพ ยกศพขึ้นไปวาง เอาผ้ามาเช็ดใบหน้ากับลำคอ แล้วหวีผมกระเซิงให้เรียบร้อยขึ้นมาบ้าง

“จากนั้นเป็นขั้นตอนห่อศพด้วยผืนพลาสติกรองแผ่นไม้ จะได้ป้องกันกลิ่นฟุ้ง เสร็จจากนั้น เธอก็เขียนข้อมูลต่างๆ ของศพ เพศอะไร อายุประมาณเท่าไหร่ ศพสวมเสื้อผ้าอะไรและจดยี่ห้อของรองเท้าด้วย

“หลังจากนั้นก็ใส่หมายเลขกำกับศพ เธอต้องเขียนหมายเลขไว้บนกระดาษ แล้วเหน็บแผ่นหมายเลขที่อกของศพนะ และสุดท้ายคือ เอาผ้าขาวคลุมร่างตั้งแต่เท้าจนถึงคอ เข้าใจไหม” ผู้ดูแลโรงยิมที่ถูกใช้เป็นห้องพักศพ แจกแจงเนื้องาน ในอารมณ์ที่เห็นศพ ก็คือศพ ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น

และแล้ว สิ่งที่หนุ่มอาสาสมัครได้ประสบคือ ขณะเช็ดใบหน้าให้แก่ศพชายผู้หนึ่ง เด็ก 15 ได้เห็นว่าคอของชายคนนี้ถูกเชือดเหวอะหวะ ลิ้นไก่สีแดงถึงกับยื่นปลิ้นออกมา มันเป็นสีแดงแบบเดียวกับเวลาที่หนูน้อยแลบลิ้นล้อเลียนเพื่อน ฮัน คัง เขียนอย่างนั้น

เหล่านี้คือผลจากความเหี้ยมโหดทารุณที่นักศึกษาประชาชนผู้ต่อต้านเผด็จการทหาร ต้องเผชิญ
บรรยากาศในตอนหนึ่งของการลุกฮือขึ้นสู้การรัฐประหารในเมืองกวางจู ปี 1980
ฮัน คัง จิตแข็งมาก เธอเล่าถึงชะตากรรมนรกบนดินของผู้ที่รอดชีวิตออกมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู ตั้งแต่คิม จินซู ซึ่งถูกทหารกักขัง และสามารถรักษาชีวิตไว้ได้ด้วยวิธีการที่น่าอับอาย ซึ่งกลายเป็นตราบาปติดตัว หลังจากนั้น 10 ปี คิม จินซูตัดสินใจฆ่าตัวตาย หนีความรู้สึกผิดที่หลอนตนเองมาช้านาน;

และก็ ช็อนจู ผู้ถูกทรมานและถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างไรก็ตาม เธอเอาจิตใจรอดจากบาดแผลในอดีตได้ เพราะมีโอกาสปฏิบติงานเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง;

ไปจนถึงความทุกข์ตรมฝังลึกที่คุณแม่ของคัง ดองโฮ แบกรับไว้ตลอดชีวิต หลังจากคัง ดองโฮ เสียชีวิต ในส่วนของคัง ดองโฮ เองนั้น เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณได้กลับมาค้นหาศพของตัวเอง ทั้งนี้ ฮัน คัง เล่าว่า คัง ดองโฮ สนทนากับศพอันเน่าอืดของตน

ในตอนท้าย ฮัน คัง ตั้งคำถามชวนพิจารณาถึงความเปราะบางของมนุษย์ และความโหดเหี้ยมที่คนเราสามารถกระทำต่อผู้อื่นได้ลงคอ

น่าจะด้วยเหตุที่ ฮัน คัง ถือเป็นภารกิจของตนที่จะนำวีรเวรวีรกรรมของเผด็จการทหาร มาสร้างเป็นนวนิยายบันทึกสังคม ที่จะดำรงคงอยู่ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ตระหนักรับทราบ เธอจึงใส่ใจที่จะแนะนำ Human Acts ให้เป็นเรื่องแรกๆ สำหรับผู้อ่านทั้งหลาย มากกว่าที่จะแนะนำ The Vegetarian ที่เป็นแนวดรามาป๊อปปูลาร์กว่าเรื่องอื่นๆ ในเวอร์ชันภาษาต่างประเทศ ทั้งหกเรื่อง
สุสานมังวอลในกวางจู ซึ่งจัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่วีรชนแห่งการลุกฮือขึ้นสู้เผด็จการทหาร ปี 1980
ประธานาธิบดีชุน ดูฮวาน ยอมปล่อยตัวท่านคิม แดจุง ให้เป็นอิสระจากโทษประหารและให้ลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ตามที่ทูตอเมริกันเจรจาร้องขอ โดยแลกเปลี่ยนกับการได้รับคำเชิญให้ไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ตลอดจนการได้เป็นหนึ่งในชาติแรกๆ ที่ได้คิวเข้าพบปะเจรจาความเมืองกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในปี 1981 ซึ่งเรแกนเพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเพียงหนึ่งเดือนเศษ ภาพนี้กดชัตเตอร์กันที่ทำเนียบขาว ในเดือนกุมภาพันธ์ 1981
ในวันศุกร์ 11 ตุลาคม (วันรุ่งขึ้นจากคำประกาศนามผู้ชนะรางวัลโนเบิลวรรณกรรม 2024) ซึ่ง ฮัน คัง แจ้งคุณพ่อฮัน ซึงวอน นักประพันธ์คนดังวัย 84 ปี แล้วว่า เธอจะไม่จัดงานแถลงข่าว คุณพ่อก็น่ารักขั้นสุด คงจะเกรงใจบรรดานักข่าว จึงเปิดบ้าน (ในจังหวัดซ็อลลาใต้) ต้อนรับสื่อมวลชน และจัดแถลงข่าวในส่วนของคุณพ่อ

“ในตอนแรก ผมแนะนำเธอว่าให้เธอเลือกสำนักพิมพ์ของเธอสักรายหนึ่งมาเป็นเจ้าภาพจัดงานแถลงข่าว เธอตกลงตามนั้น แต่พอคุยกันเช้านี้ (วันศุกร์ 11 ตุลาคม) เธอบอกว่าขอเปลี่ยนใจ” คุณพ่อฮัน ซึงวอน เล่าไว้อย่างนั้นกับกองทัพสื่อมวลชนซึ่งมาสัมภาษณ์ที่บ้านในจังหวัดช็อลลาใต้

“มุมมองของ ฮัน คัง ขยับจากการเป็นนักเขียนในเกาหลี สู่มุมมองที่รับรู้ถึงโลกโดยรวม ฮัน คัง บอกผมว่า โดยที่สงครามต่างๆ ยังร้อนระอุระหว่างรัสเซียกับยูเครน และระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และด้วยข้อมูลที่ว่ามีผู้คนล้มตายในการสู้รบเหล่านี้ทุกวัน เธอจึงไม่สามารถจัดแถลงข่าวหรือจัดฉลองรางวัลเกียรติยศอะไรได้เลย เธอขอให้กรุณาเข้าใจในเรื่องนี้ด้วยนะครับ” คุณพ่อฮัน ซึงวอน นักเขียนและปัญญาชนที่ไม่อยู่ในขนบแห่งความเป็นจ้าวในครัวเรือน กล่าวกับสื่อมวลชนอย่างนั้น

นอกจากนั้น บิดาของ ฮัน คัง ยังถ่ายทอดถ้อยคำของลูกสาวด้วยว่า ราชบัณฑิตยสถานสวีเดนมอบรางวัลมานี้ มิใช่เพื่อให้เราเฉลิมฉลองนะคะ แต่เพื่อให้ความรู้สึกนึกคิดของเรากระจ่างชัดขึ้น”

ผู้สื่อข่าวใช้วาระนี้ สัมภาษณ์คุณพ่อผู้เป็นประพันธกรคนสำคัญของชาวเกาหลีว่า มองผลงานของลูกอย่างไร

“ตั้งแต่ที่ผมได้อ่านบรรทัดแรกในงานเขียนเรื่องแรกของลูก ผมทราบเลยว่าในไม่ช้า ลูกจะพัฒนาขึ้นแซงหน้าผมแน่นอน ผมเล่าอย่างนี้ ก็ไม่อยากให้มองผมเป็นพ่อผู้ปลื้มลูกสาวไม่ลืมหูลืมตา ผมมองศักยภาพของ ฮัน คัง อย่างปลอดอคติทั้งปวงครับ”
คุณพ่อฮัน ซึงวอน นักประพันธ์คนดังวัย 84 ปีบิดาของ ฮัน คัง เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชนในจังหวัดซ็อลลาใต้ ในอันที่จะแถลงข่าวในฐานะแดดดี๊ของนักเขียนหญิง เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2024 ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็เป็นประมาณว่าปลอบใจน้องๆ นักข่าว ที่ไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ฮัน คัง นั่นเอง อนึ่ง บ้านของคุณพ่อฮัน ซึงวอน ทำหน้าที่เป็นเป็นสถาบันการประพันธ์ที่ฝึกสอนการเขียนวรรณกรรมให้แก่บุคคลทั่วไป
Theme การเขียนของ ‘ฮัน คัง’ ร่วมอยู่ในกระแสหลักของบรรดานักเขียนหญิงเกาหลี ที่จะร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนสิ่งที่ทำร้ายความเป็นครอบครัว พร้อมกับรังสรรค์สังคมที่ดีขึ้นสำหรับลูกผู้หญิงทุกคน

โดยที่ผู้หญิงในเกาหลีใต้ยังถูกลิดรอนสิทธิ และถูกเลือกปฏิบัติในทางการเมือง ในโลกธุรกิจ และในพื้นที่สื่อมวลชน เวทีวรรณกรรมเป็นช่องทางที่ผู้หญิงจะแสดงออกถึงพลังของพวกเธอ

“เวทีวรรณกรรมเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถเป็นอิสระจากอคติทางเพศ” กล่าวโดยคริส ลี สาวนักเขียนนวนิยายที่มีถิ่นฐานอยู่ในกรุงโซล

นักเขียนสตรีรายอื่นๆ บอกว่าไม่รู้สึกแปลกใจที่ว่า เดี๋ยวนี้ เป็นนักเขียนหญิงที่นำพลังด้านวรรณกรรมของเกาหลีออกสู่เวทีโลก

“ในวงวรรณกรรม แม้ในยุคที่ถูกครอบครองโดยนักเขียนชาย แต่เสียงที่แข็งแกร่งที่สุด มาจากผู้ที่ถูกกดขี่หนักที่สุดค่ะ” กล่าวโดยนักเขียนสาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี นามว่า อึนนี่ ฮง เจ้าของผลงาน The Birth of Korean Cool: How One Nation Is Conquering the World Through Pop Culture

“ผู้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ตลอดจนกลุ่มชนชายขอบ ต้องมีเสียงที่ดังและแจ่มชัดค่ะ มิฉะนั้น จะไม่มีใครได้ทราบถึงความทุกข์ร้อนของพวกเขา เรื่องราวของพวกเขาจึงถูกสะท้อนอยู่ในงานวรรณกรรม” สาวนักเขียนอเมริกันบอกอย่างนั้น

ด้านคุณคริส ลี ตั้งประเด็นว่าในหลายปีที่ผ่านมา นักอ่านผู้หญิงทรงพลังขึ้นมามากภายในตลาดหนังสือของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงทำงานซึ่งเป็นชนชั้นที่เติบโตขึ้นมาก นอกจากนั้น ความเคลื่อนไหวที่ทวีตัวกันอย่างมากในกระแสต่อต้านการคุกคามทางเพศและการรังแกรังควาญผู้หญิง ทั้งในระดับโลกและทั้งภายในเกาหลีใต้เอง ได้สร้างให้เกิดความกระหายที่จะได้ยินเสียงของผู้หญิง

“คุณฮัน คัง มาจากเจเนอเรชันที่ผู้หญิงยังเติบโตขึ้นมาภายใต้ระบบผู้ชายเป็นใหญ่ และเกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มากมายด้วยการใช้ความรุนแรง ดิฉันคิดว่าผลงานของเธอเล่าถึงเรื่องราวเหล่านี้น่ะค่ะ” คริส ลี ให้สัมภาษณ์แก่นิวยอร์กไทมส์อย่างนั้น

มากมายของหนังสือโดยนักเขียนสตรี ที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ (ซึ่งบางส่วนเน้นยอดขาย มากกว่าจะเสนอความเป็นเลิศในเชิงวรรณกรรม) จะเล่นประเด็นทั่วๆ ไปของผู้หญิง อาทิ เรื่องของคุณแม่ หรือเรื่องของรูปทรงร่างกาย การที่หนังสือแนวนี้ขายได้ ก็สะท้อนถึงความสนใจที่นักอ่านอเมริกันกับนักอ่านชาวอังกฤษมีต่อหนังสือจากวิถีชีวิตเกาหลีใต้ นิวยอร์กไทมส์นำเสนอไว้

งานนวนิยายของนักเขียนสตรีเกาหลีบุกตลาดต่างประเทศเยอะทีเดียว โดยเรื่องเด่นๆ ได้แก่ “คิมจียอง เกิดปี 82” ผลงานของสาวนักเขียนบทละครโทรทัศน์ โช นัม-จู (2016) ซึ่งตัดสินใจลาออกจากงานเพราะตั้งครรภ์ เพื่อเป็นแม่บ้านเต็มเวลา แต่เมื่อลูกโตขึ้น โช นัม-จู ก็กลับไปทำงานในตำแหน่งนักเขียน
หน้าปกหนังสือเรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 ในเวอร์ชันภาษาเกาหลี (ซ้าย) กับเวอร์ชันภาษาไทย (ขวา)
ผู้หญิงเก่งอย่างโช นัม-จู นำโครงสร้างชีวิตตนเองมาเขียนเป็นเรื่องราวของคุณแม่ที่ลาออกจากงานประจำเมื่อตั้งครรภ์ และใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านเต็มร้อย ในเวลาต่อมา นางเอกของโช นัม-จู มีอาการป่วยด้วยโรคจิตโดยไม่ทราบว่าตนเองผิดปกติ อาการของเธอคือ เธอเปลี่ยนตัวตนเป็นใครต่อใครไม่ได้ขาด อาทิ กลายเป็นคุณแม่ของตนเอง บางทีเธอกลายเป็นรุ่นพี่ในชมรมยุคที่ยังเรียนอยู่ แล้วบางทีก็กลายเป็นหนูน้อย สามีจึงพาไปรับการรักษาจากจิตแพทย์

หลังจากนั้น โช นัม-จู จึงเล่าถึงสารพันชะตากรรมแห่งความไม่เท่าเทียมหนักหนาที่คิมจียองต้องประสบ เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง แรงกดดันทางจิตใจสะสมขึ้นไป จนกระทั่งใจของเธอหนีไปเป็นคนอื่น ที่ไม่ใช่ตนเอง

นวนิยายเรื่องนี้ใช้เวลาปีเศษนับจากที่เริ่มวางแผงในปี 2016 กว่าจะเข้าตานักวิจารณ์ จนกระเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึง

ในกลางปี 2018 คุณค่ายอดเยี่ยมของ “คิมจียอง เกิดปี 82” ได้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อความเป็นธรรม หรือ จัสติสปาร์ตี มอบสุดยอดหนังสือส่งเสริมสิทธิสตรีเล่มนี้แก่ประธานาธิบดีมุน แจอิน พร้อมจดหมายน้อยที่แนบไปกับข้อความว่า

“โปรดรับ คิมจียอง เกิดปี 82 ไว้ในอ้อมอกด้วยครับ”

หลังจากนั้น คิมจียอง เกิดปี 82 ก็เข้าตาและกระแทกใจผู้หญิงเกาหลีทั่วประเทศ และมียอดขายแตะระดับ 1 ล้านเล่มในเดือนพฤศจิกายน 2018 อีกทั้งยังมีการขายลิขสิทธิ์ไปยังประเทศต่าง 18 ภาษา และมาปรากฏเป็นเวอร์ชันภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนส ในปี 2019

ด้วยความป๊อปปูลาร์มหาศาล คิมจียอง เกิดปี 82 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ มีซุปตาร์อย่างหนุ่ม กงยู ร่วมแสดง ผู้คน 1 ล้านรายแห่กันไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ภายใน 5 วันแรกที่เข้าฉาย และ 2 ล้านรายภายใน 11 วันแรก แล้วก็ 3 ล้านรายภายใน 18 วันแรก ตามข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวบันเทิงค่าย m.entertain.naver.com วันที่ 9 เดือนพฤศจิกายน 2019 รวมรายได้ทั้งหมดสูงถึง 27.16 ล้านดอลลาร์ สรอ.

คิมจียอง เกิดปี 82 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมและความบกพร่องของสิทธิผู้หญิงในเกาหลีใต้
เมื่อ คิมจียอง เกิดปี 82 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จล้นหลาม
กระนั้นก็ตาม เสน่ห์ของงานประพันธ์เกาหลีใต้ที่ “ตก” นักอ่านในอเมริกาและประเทศต่างๆ มากมาย มีมากกว่าเนื้อหาสิทธิสตรี

“เราพากันตื่นเต้นที่ได้เห็นเรื่องราวสารพัดแนวถูกแปลออกไปขายในตลาดทั่วโลก” คิม ชียอง นักแปลนวนิยายภาษาเกาหลีมากมายหลายเรื่องไปสู่ภาษาอังกฤษ

“สามสิบปีก่อน จะเป็นงานวรรณกรรมจ๋าๆ ที่ต่างชาตินำไปแปลขายเป็นภาษาอังกฤษค่ะ เดี๋ยวนี้ จะได้เห็นทั้งงานไซไฟ งานแฟนตาซี ตลอดจนงานบันทึกความทรงจำ ถูกแปลออกไปเผยแพร่ค่ะ” คุณคิม ชียอง กล่าวและชี้ปัญหาในข้อจำกัดที่ว่าด้วยการขาดแคลนนักแปลคุณภาพดี และทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อการศึกษาด้านวัฒนธรรมและศิลปะก็ลดน้อยถดถอยลงในหลายปีที่ผ่านมา

“เราต้องการนักแปลมากกว่าที่มีอยู่ เพื่อให้เพียงพอแก่การนำวรรณกรรมภาษาเกาหลีที่แสนวิเศษ และแสนจะหลากหลาย ไปสู่ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ น่ะค่ะ” คิม ชียอง กล่าวไว้กับนิวยอร์กไทมส์

นอกจากนั้น ยังวาดหวังกันว่าคุณภาพมาตรฐานโนเบลของฮัน คัง จะดึงความสนใจของชาวโลกมายังวรรณกรรมประเภทต่างๆ ของเกาหลีใต้ เฉกเช่นที่ภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ได้ผลักดันให้คอนเทนต์ของเกาหลีใต้ฮอตฮิตอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง

“ภาพยนตร์เกาหลีทำให้ผู้คนนานาประเทศได้ทราบว่าคนเกาหลีเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งเหลือเกิน” อึนนี่ ฮง กล่าว พร้อมตั้งความหวังว่างานของ ฮัน คัง จะทำให้ชาวโลกหันมาชื่นชมวรรณกรรมชั้นสูงบ้าง หลังจากที่สาธารณรัฐเกาหลีประสบความสำเร็จยาวนานในการผลิตวัฒนธรรมดนตรี K-Pop

“เกาหลีมิใช่จะเป็นแค่ชาติยอดเยี่ยมด้านดนตรีป๊อป เกาหลียังเป็นชาติยอดเยี่ยมด้านไอเดียด้วยนะคะ เรามีความอุดมสมบูรณ์ในวรรณกรรมอันน่าทึ่งค่ะ”

ส่วนสำหรับเส้นทางประพันธกรของ ฮัน คัง ในอนาคตนั้น น่าจะมีความมั่นคงปลอดภัยเป็นอันดี

กล่าวคือ หากมันเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ ที่เธอบอกว่าเธอถูกรัฐบาลขวาสุดโต่ง จัดชั้นเป็นแบล็กลิสต์ เพราะ Human Acts แตะไปถึงอดีตเผด็จการฝ่ายขวาจัดที่ปราบปรามสังหารประชาชน และนวนิยายชิ้นล่าสุด ชื่อเรื่องว่า “We Do Not Part” ซึ่งเจาะลึกถึงการสังหารหมู่บนเกาะเจจู ก็เป็นที่ขัดเคืองของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลฝ่ายขวาจัด ที่ยังเรืองอำนาจแอบแฝงอยู่อย่างมหาศาลล่ะก็

รางวัลโนเบลวรรณกรรมที่เธอได้รับ ก็จะเป็นตราภูมิคุ้มห้าม ที่จะป้องกันไม่ให้ถูกคุกคามขู่เข็ญรังแก หรือถูกฆ่าปิดปากได้ง่ายดายนัก เพราะเธอเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นทรัพยากรบุคคลผู้ทรงคุณค่าของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ภัยคุกคามจากเผด็จการทหารยังเป็นอะไรที่ห้ามประมาท เพราะเผด็จการทหารยังมิได้สูญพันธุ์ โดยเพียงแค่ถอยเข้าไปปักหลักที่หลังฉาก ในฐานะกลุ่มผลประโยชน์จอมอิทธิพล โดยมีอำนาจต่อรองมหาศาล

ดังปรากฏออกมาว่า อดีตประธานาธิบดี 3 รายจากสายทหาร ที่ถูกดำเนินคดีอาญา และต้องโทษจำคุกรายละนับเป็นสิบๆ ปี ล้วนได้รับการนิรโทษจากรัฐบาลพลเรือน และได้รับอิสรภาพก่อนกำหนด ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอำนาจการต่อรองอันมหาศาลที่ปีกฝ่ายทหารยังมีอยู่ และปีกฝ่ายนักการเมืองพลเรือนก็ทราบดีว่า เลือกการประนีประนอมย่อมดีกว่าที่จะเสี่ยงให้เกิดรัฐประหาร

ฮัน คัง จึงเดินหน้าผลิตผลงานวรรณกรรมออกมาเตือนภัยไปยังชาวเกาหลีรุ่นใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง
ในปี 1993 พรรคการเมืองฝ่ายทหารจูบปากกับนักการเมืองฝ่ายค้านอย่าง คิม ย็องซัม ส่งผลให้ คิม ย็องซัม ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อ คิม ย็องซัม คุมอำนาจไว้ในมือแล้ว ก็ลงมือเช็กบิลจอมเผด็จการทหาร โดยนำ โรห์ แตวู (ซ้าย) และ ชุน ดูฮวาน (ขวา) มาดำเนินคดีข้อหามีการกระทำรัฐประหาร ทรยศต่อชาติ และรับสินบน ในภาพนี้เป็นบรรยากาศภายในศาลพิจารณาคดีเมื่อปี 1996 และต่อมาในเดือนเมษายน 1997 ทั้งสองถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง โดยต้องรับโทษจำคุกตลอดชีวิต กระนั้นก็ตาม 8 เดือนต่อมา ประธานาธิบดีคิม ย็องซัม ก็ตัดสินใจให้นิรโทษกรรมเมื่อ 21 ธันวาคม 1997 ทั้งนี้ กรณีของอดีตประธานาธิบดีพัค กึนฮเย ก็ถูกดำเนินคดีทุจริตคอร์รัปชัน และต้องโทษจำคุก 24 ปีนับจากศักราช 2018 แต่ก็ได้รับนิรโทษกรรมในปี 2021 ด้วยเหตุผลด้านความชราและสุขภาพย่ำแย่
คอลัมน์ PLANET No.3

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า


(ที่มา: นิวยอร์กไทมส์ m.entertain.naver.com)


ที่มา : MgrOnline