นักวิทย์ฯ เผย “จุดแดงใหญ่” เอกลักษณ์เด่นของดาวพฤหัสบดี อาจมีอายุไม่นานอย่างที่เคยศึกษา

เผยแพร่ : 20 ต.ค. 2567 21:30:42
X
1. ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ
2. ดาวพฤหัสบดีมีจุดเด่นคือ "จุดแดงใหญ่" (Great Red Spot) ซึ่งเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ

นอกจากจะเป็นดาวเคราะห์ดวงใหญ่ที่สุดของระบบสุริยะ ดาวพฤหัสบดี ยังมีอีกหนึ่งความโดดเด่นคือ “จุดแดงใหญ่” (Great Red Spot) ซึ่งเป็นพายุหมุนที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจุดแดงขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเลือนหายนับตั้งแต่มีการศึกษาดาวดวงนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนสนใจศึกษาการกำเนิดของพายุใหญ่ลูกนี้

จุดแดงใหญ่คือ พายุหมุนขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสบดีที่ปรากฏบริเวณซีกใต้ของดาว ถูกเฝ้าสังเกตมานานกว่าสามร้อยปี พายุนี้หมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา มีความกว้างประมาณ 16,350 กิโลเมตร หรือขนาดเท่ากับโลกของเราถึง 12 ดวง รวมกัน ความเร็วลมของพายุมากกว่า 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ค้นพบจุดแดงใหญ่คือ โจวันนี กัสซีนี ในปี ค.ศ. 1665

หลังจากการค้นพบในยุคแรก นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้เรียกจุดนี้ว่าจุดแดงใหญ่ แต่เรียกว่า “จุดถาวร” (permanent spot) ตามคำที่ กัสซีนี ผู้คนพบคนแรกเรียก การศึกษาข้อมูลครั้งใหม่ได้พบว่า หลังจากปี ค.ศ.1713 ก็ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับจุดถาวรนี้เลย จนกระทั่งผ่านไปอีก 118 ปี เมื่อ เอส. ชวาเบอ ได้พบจุดแดงใหญ่อีกครั้ง และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่างและโครงสร้างอย่างละเอียด และจุดแดงใหญ่ที่ เอส. ชวาเบอ ค้นพบก็มีตำแหน่งละติจูดเดียวกับที่จุดถาวรเคยอยู่ จึงน่าเชื่อได้ว่าเป็นจุดเดียวกันกับที่กัสซีนีพบ

แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดย เอากุสติน ซานเชซ-ลาเวกา ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยบาสก์ สเปน ได้ศึกษาบันทึกทางประวัติศาสตร์ดาวพฤหัสบดี ควบคู่กับการใช้แบบจำลองชั้นบรรยากาศของดาวที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ โดยมีข้อมูลจากยานจูโนที่กำลังโคจรรอบดาวดวงใหญ่ดวงนี้อยู่ เพื่อหาว่ามีแรงใดบ้างที่จะสร้างจุดแดงใหญ่ขึ้นมาได้

บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีมีการแบ่งเป็นแถบอย่างชัดเจน แต่ละแถบพัดไปรอบดาวพฤหัสบดีด้วยความเร็วต่างกัน ทางเหนือของจุดแดงใหญ่ลมจะพัดไปทางตะวันตกด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนทางใต้ของพายุลมจะพัดไปทางตะวันออกด้วยความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อวินาที นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าความเร็วลมที่ต่างกันนี้ทำให้เกิดลมเฉือนที่ทำให้เกิดพายุหมุนและก่อตัวเป็นจุดแดงใหญ่ และผลของแบบจำลองแสดงว่า ทั้งสองกรณีล้วนสร้างพายุหมุนขนาดใหญ่ได้ แต่ทั้งรูปร่างและสมบัติทางกายภาพอื่นๆ ไม่เหมือนกับจุดแดงใหญ่ในปัจจุบัน
ภาพสเก็ตช์ของจุดถาวร ที่วาดโดยโจวันนี กัสซีนี ในปี ค.ศ. 1677 1690 และ 1691 เปรียบเทียบกับภาพจุดแดงใหญ่ที่ถ่ายในปี ค.ศ.2023
การจำลองยังแสดงว่ามีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งสร้างจุดแดงใหญ่ได้ใกล้เคียงความจริงมากกว่า นั่นคือ ความแปรปรวนของลมในเขตร้อนทางซีกใต้ของดาวพฤหัสบดี (South Tropical Disturbance (STrD)) โดยในช่วงแรกจะเกิดเป็นพายุที่ยาวเรียว และต่อมาก็ค่อย ๆ หดสั้นลงจนดูกลมมากขึ้น ขนาดเล็กลง พร้อมกับพายุก็หมุนเร็วขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามแบบจำลองนี้ก็เกิดขึ้นกับจุดแดงใหญ่จริง เดิมจุดแดงใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก การวัดขนาดในปี 1879 พบว่ามีความยาวถึง 39,000 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันหดเล็กลงมากเหลือเพียง 14,000 กิโลเมตร และดูจะกลมขึ้นไม่รีมากอย่างแต่ก่อนอีกด้วย

นักดาราศาสตร์คณะดังกล่าวจึงสรุปว่า จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีไม่ได้เกิดจากลมเฉือน แต่เกิดจากความแปรปรวนของลมในเขตร้อนด้านใต้ สาเหตุที่ไม่มีการบันทึกจุดแดงใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ก็เพราะว่าจุดหายไปจริง ๆ "จุดถาวร" ของกัสซีนีกับ "จุดแดงใหญ่" ในปัจจุบันเป็นพายุคนละลูกกัน และ จุดแดงใหญ่ที่เรามองเห็นในปัจจุบันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 150 ปีก่อนเท่านั้น

ถึงจะมีอายุไม่นานอย่างที่เคยศึกษา แต่จุดแดงใหญ่ก็ยังถือได้ว่าเป็น พายุหมุนที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ที่ไม่มีพายุในดาวเคราะห์ใดในระบบสุริยะของเราเทียบได้


ข้อมูล – รูปอ้างอิง 

- NASA , สมาคมดาราศาสตร์ไทย

- sciencealert.com (The Biggest Storm in The Solar System Might Not Be as Old as We Thought)

- universetoday.com (The Great Red Spot Probably Formed in the Early 1800s)

ที่มา : MgrOnline