เปิดมติครม.ไฟเขียว 2 กลุ่มสัมปทานแหล่งรสสุคนธ์อ่าวไทย "เครือมูบาดาลา-กัลฟ์ ออฟ ไทยแลนด์" โอนสิทธิให้ "นอร์ธเทิร์น กัลฟ์" เพียงผู้เดียว

เผยแพร่ : 18 ต.ค. 2567 18:10:01
X
• ครม. ไฟเขียว บริษัท เอ็มพี จี 6 (ประเทศไทย) ในเครือ มูบาดาลา และ Gulf of Thailand ยกสิทธิสัมปทานปิโตรเลียมให้แก่ Northern
• สัมปทานหมายเลข 4/2550/80 แปลงสํารวจ ปิโตรเลียมรสสุคนธ์ ในทะเลอ่าวไทย พื้นที่ จ.สงขลา หมายเลข G6/48
• Northern จะเป็นผู้รับช่วงสัมปทานต่อจาก เอ็มพี จี 6 และ Gulf of Thailand

เปิดความเห็นมติครม. ไฟเขียว บริษัท เอ็มพี จี 6 (ประเทศไทย) ในเครือ มูบาดาลา และ Gulf of Thailand ยกสิทธิสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 4/2550/80 แปลงสํารวจ "ปิโตรเลียมรสสุคนธ์" ในทะเลอ่าวไทย พื้นที่ จ.สงขลา หมายเลข G6/48 ให้แก่ "Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd." เป็นผู้ถือสิทธิประโยชน์ และพันธะในสัมปทานปิโตรเลียมแปลงนี้แต่เพียงผู้เดียว

วันนี้ (18 ต.ค.2567) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่15 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตาม ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอ อนุมัติให้ Valeura Energy (Gulf of Thailand) Ltd. และบริษัท เอ็มพี จี6 (ประเทศไทย) จํากัด โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ ซึ่งบริษัททั้งสอง ต่างถืออยู่ทั้งหมดร้อยละ 30

ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 4/2550/80 แปลงสํารวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G6/48 ให้แก่ "Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd." เป็นผู้ถือสิทธิประโยชน์ และพันธะในสัมปทานปิโตรเลียมแปลงนี้แต่เพียงผู้เดียว

โดยอาศัยความตามมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอํานาจของรัฐมนตรี โดยคําแนะนํา ของ "คณะกรรมการปิโตรเลียม" และต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะได้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 4/2550/80 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กําหนดในกฎกระทรวงกําหนด แบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป

สำหรับความเห็น ของหลายหน่วยงาน เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่พบว่ามีการเผยแพร่แต่อย่างใด

ขณะที่ เหตุผลความจําเป็นที่ต้องเสนอ ครม. กระทรวงพลังงาน ระบุว่า Valeura Energy (Gulf of Thailand) Ltd. และบริษัท เอ็มพี จี6 (ประเทศไทย) จํากัด ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 4/2550/80 แปลงสํารวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G6/48

แจ้งความประสงค์ ขอโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะซึ่งบริษัททั้งสองต่างถืออยู่ทั้งหมดร้อยละ 30 ในสัมปทานดังกล่าว ให้แก่ Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นผู้รับสัมปทานตามมาตรา 24 เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ที่กําหนดว่า ผู้รับสัมปทานอาจโอนสัมปทานทั้งหมดหรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสํารวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นได้

ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยอนุมัติ คณะรัฐมนตรีตามมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ขณะที่ความเร่งด่วนของเรื่อง ระบุว่า การโอนและรับโอนสิทธิในสัมปทานปิโตรเลียมของบริษัทผู้รับสัมปทานในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติ

"จะทําให้ Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. ผู้รับโอนเป็นผู้รับสัมปทานเพียงรายเดียว และเป็นผู้ดําเนินงานตามสัมปทานนี้ รวมทั้งสามารถดําเนินการตามแผนการลงทุนและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"

เรื่องเดิม กระทรวงพลังงาน ได้ออกสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 4/2550/80 เพื่อสิทธิสํารวจ และผลิตปิโตรเลียมในแปลงสํารวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G6/48

ให้แก่ Occidental Exploration Pte. Ltd. (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd.) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2550

สัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวมีการโอนและเปลี่ยนแปลงสิทธิ ประโยชน์ และ พันธะในสัมปทาน รวมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทผู้รับสัมปทานและผู้ดําเนินงานมาเป็นลําดับ ปัจจุบัน มีผู้ถือสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานดังกล่าว ดังนี้

Valeura Energy (Gulf of Thailand) Ltd. (แวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (กัลฟ์ ออฟ ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด) ร้อยละ 30 และเป็นผู้ดําเนินงาน

Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. (นอร์ธเทิร์น กัลฟ์ ปิโตรเลียม พีทีอี แอลทีดี) ร้อยละ 40 และ บริษัท เอ็มพี จี6 (ประเทศไทย) จํากัด ร้อยละ 30

ปัจจุบัน สัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม 20 ปี (วันที่ 8 มกราคม 2559 - 7 มกราคม 2579) โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ได้รับอนุมัติให้กําหนด พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมจํานวน 1 พื้นที่ คือ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมรสสุคนธ์

โดยคําขอของผู้รับสัมปทาน Valeura Energy (Gulf of Thailand) Ltd. และบริษัท เอ็มพี จี (ประเทศไทย) จํากัด ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 4/2550/80 แปลงสํารวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G6/48 แจ้งความประสงค์ ขอโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะ

ซึ่งบริษัททั้งสองต่างถืออยู่ในสัดส่วนร้อยละ 30 ในสัมปทาน ให้แก่ Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. โดยอาศัยความตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้รับโอนได้มีหนังสือยืนยันการรับโอนมาด้วยแล้ว

ขฯะที่ ข้อกฎหมายประกอบการพิจารณา กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา ได้แก่ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนสัมปทานปิโตรเลียม ดังนี้

1) มาตรา 50 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 กําหนดว่า

นอกจากกรณี ตามมาตรา 48 ผู้รับสัมปทานอาจโอนสัมปทานทั้งหมดหรือเฉพาะที่เกี่ยวกับแปลงสํารวจแปลงใดแปลงหนึ่ง พื้นที่ผลิต หรือพื้นที่ที่สงวนไว้เขตใดเขตหนึ่งให้แก่บริษัทอื่นได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

ผู้รับโอนสัมปทานตามวรรคหนึ่งต้องมีลักษณะตามมาตรา 24

2) มาตรา 24 กําหนดว่า ผู้ขอสัมปทานต้อง (1) เป็นบริษัท และ (2) มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญ เพียงพอที่จะสํารวจ ผลิต ขาย และจําหน่ายปิโตรเลียม

ในกรณีที่ผู้ขอสัมปทานไม่มีลักษณะครบถ้วนตาม (2) ต้องมีบริษัทอื่นซึ่งรัฐบาล เชื่อถือ และมีลักษณะตาม (2) และมีความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการกับผู้ขอสัมปทานรับรองที่จะให้ทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสํารวจ ผลิต ขาย และ จําหน่ายปิโตรเลียม

3) มาตรา 22 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550 กําหนดว่า รัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(7) อนุญาตให้โอนสัมปทานตามมาตรา 50 การดําเนินการตาม (1) (3) (7) หรือ (15) ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

4) กฎกระทรวงกําหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ข้อ 3 (1) กําหนดว่า กรณีที่กฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมกําหนดให้รัฐมนตรีทําโดยคําแนะนําของคณะกรรมการและโดยได้รับอนุมัติ จากคณะรัฐมนตรีให้สัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติมเป็นไปตามแบบ ชธ/ป3/1 ท้ายกฎกระทรวงนี้

ส่วนประโยชน์และผลกระทบ การอนุญาตให้โอนสัมปทานได้ในกรณีนี้ ซึ่งจะมีผลให้ Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. เป็นผู้ดําเนินงานและผู้รับสัมปทานที่ทําการลงทุนแต่เพียงรายเดียว

"ย่อมจะมีความคล่องตัวในการตัดสินใจ ถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งและการประกอบกิจการปิโตรเลียมมากขึ้น สามารถพัฒนาทรัพยากรน้ํามันดิบ ในพื้นที่แปลงสํารวจขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว"

ทันต่อการตอบสนองความต้องการใช้ของประเทศในปัจจุบัน และก่อเกิดเป็นรายได้ให้กับประเทศในรูปของค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่รัฐจัดเก็บได้

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนไทยในธุรกิจต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยลดการนําเข้าน้ำมันดิบ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2557 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เคยชี้แจงข้อเท็จจริงการอนุมัติ โอน เปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้รับสัมปทาน สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายปิโตรเลียม

ในประเด็นของ บริษัท คริสเอ็นเนอร์ยี่ ที่ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของสัมปทานปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G6/48 ซึ่งมี บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม เป็นผู้รับสัมปทาน อยู่ในแปลงสัมปทานดังกล่าว ว่ามีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง นั้น

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ชี้แจงว่า การโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะในสัมปทานของสัมปทานเลขที่ 4/2550/80 สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G6/48"

ระหว่างบริษัท เอ็มพี จี 6 (ประเทศไทย) (บริษัทในเครือ มูบาดาลา) ซึ่งมีสัดส่วนเดิม 60% ให้แก่บริษัท KrisEnergy (Gulf of Thailand) ในสัดส่วน 30%

เป็นการโอนสิทธิฯ ในสัมปทานปิโตรเลียม ที่สามารถดำเนินการได้ ภายใต้กฎหมายปิโตรเลียม

โดยในครั้งนั้น ผู้ถือสิทธิในสัมปทานดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท KrisEnergy (Gulf of Thailand) 30% บริษัท เอ็มพี จี 6 (ประเทศไทย) 30% และ บริษัท Northern Gulf Petroleum 40%

ในคราวนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้ชี้แจงว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของสิทธิฯ ในแปลงสัมปทาน G6/48 สามารถทำได้ตามเงื่อนไขธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จำเป็นต้องลดความเสี่ยง

เพราะปัจจุบันการดำเนินงานในแปลงดังกล่าวอยู่ในช่วงการสำรวจปีที่ 8 แต่ยังสำรวจไม่พบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

จึงต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพราะจะต้องนำเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ร่วมทุนมาใช้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมิได้มีผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ของผู้รับสัมปทานที่จะต้องดำเนินการตามข้อผูกพันในทุกกรณีที่มีการระบุในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม

รวมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับในรูปแบบต่างๆ ก็ยังคงสัดส่วนตามกฎหมายกำหนดทุกประการ.

ที่มา : MgrOnline