โครงเรื่องย่อซีรีส์ “แม่หยัว” & เรื่องน่ารู้ !

เผยแพร่ : 17 ต.ค. 2567 23:38:15
X
ประเด็นสำคัญ:
• ครีเอเตอร์สคริปต์ไรท์เตอร์: ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์
• ที่ปรึกษาด้านข้อมูล: อัญชลี ไมตรี
• กำกับการแสดง: สันต์ ศรีแก้วหล่อ
• แนวซีรีส์: พีเรียด อิงประวัติศาสตร์
• อำนวยการผลิต: ถกลเกียรติ

โครงเรื่องย่อซีรีส์ “แม่หยัว” & เรื่องน่ารู้ (The Empress of Ayodhaya)

ครีเอเตอร์&สคริปต์ไรท์เตอร์ : ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์
ที่ปรึกษาด้านข้อมูล : อัญชลี ไมตรี
กำกับการแสดง : สันต์ ศรีแก้วหล่อ
แนวซีรีส์ : พีเรียด อิงประวัติศาสตร์
อำนวยการผลิต : ถกลเกียรติ วีรวรรณ, นิพนธ์ ผิวเณร
วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันพุธ และพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. ทางช่องวัน31
ระยะเวลาออกอากาศ : ตอนแรก วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคมนี้

#แม่หยัว #TheEmpressofAyodhaya #วัน31 #lakornonlinefan #ยืนหนึ่งข่าวละคร

โครงเรื่องย่อ

“เมื่อสตรี...มิใช่เพียงหมากบนกระดาน การต่อสู้ครั้งนี้ จึงมิอาจวางตา”

จินดา (ใหม่ ดาวิกา) ธิดา ของ ออกพระลพบุรี (กบ ทรงสิทธิ์) ผู้เลิศด้วยรูปลักษณ์ และสติปัญญา เธอถือกำเนิดด้วยดวงชะตา ที่สูงส่งเหนือคนทั้งปวง พร้อมรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการช่วงชิงบัลลังก์จาก พระไชยราชาธิราช (ตุ้ย ธีรภัทร์) กษัตริย์นักรบแห่งอโยธยา กลับสู่เชื้อสายราชวงศ์ละโว้ของตน จินดา จำต้องถวายตัว เป็นหนึ่งในพระสนมเอกสี่ทิศ ทำให้เธอจำต้องพรากจากชายคนรัก นาม วามน (ฟิล์ม ธนภัทร) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเดินทางเข้าถวายตัวในครั้งนี้ จินดาต้องเผชิญหน้ากับ พระสนมเอกต่างเมือง อีกสามคน นั่นก็คือ จิตรวดี (เป้ย ปานวาด) ,ละอองคำ (บิ๊นท์ สิรีธร) และ ตันหยง (เฟิร์น นพจิรา) ที่ต่างก็ต้องการขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” ท่ามกลางการช่วงชิงบัลลังก์ และอำนาจครั้งนี้ นำมาซึ่งเรื่องราวอันซับซ้อน และพลิกผันมากมาย

รายชื่อนักแสดง

ดาวิกา โฮร์เน่ : จินดา / ท้าวศรีสุดาจันทร์
ธนภัทร กาวิละ: วามน / ขุนวรวงศาธิราช
ธีรภัทร์ สัจจกุล: พระไชยราชา
ชลวิทย์ มีทองคำ : ขุนพิเรนทรเทพ
ราศี ดิศกุล ณ อยุธยา : ทับทิม
ปานวาด เหมมณี : จิตรวดี / ท้าวอินทรสุเรนทร์
สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ : ละอองคำ / ท้าวศรีจุฬาลักษณ์
นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล : ตันหยง (น้อย) / ท้าวอินทรเทวี
ภัทรสุดา อนุมานราชธน : คุณเฒ่าแก่แส
สวนีย์ อุทุมมา : เฮือง
โมฬีวรรณ พันธรักษ์ : ทองดี
ชนาธิป พิสุทธิ์เสรีวงศ์ : แสน
พศุฑย์ พงศ์พศุตม์ : จัน / มหาอุปราชจัน
กลศ อัทธเสรี : วาสุเทพ
ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี : ออกพระลพบุรี
สืบ บุญส่ง : พระโลกธีป
ด.ช.พันธ์ชนกชนม์ พันธ์สังข์ : พระยอดฟ้า

เรื่องน่ารู้ ก่อนดู แม่หยัว The Empress of Ayodhaya

แม่หยัว ซึ่งเป็นอีกชื่อของ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” แม่อยู่หัวองค์เดียวแห่งอโยธยา สู่หน้าที่อันยิ่งใหญ่ ที่เดิมพันด้วย “อำนาจ” และ “หัวใจ”!

แม่หยัว คำนี้มีที่มาอย่างไร?
แม่หยัว หมายถึง แม่หยัวเมือง อาจกร่อนมาจากคำว่า แม่อยู่หัว หรือ แม่อยู่หัวเมือง เป็นตำแหน่งที่มีอยู่จริงในกฎมณเฑียรบาล ใช้เรียกพระสนมเอก ที่มีพระโอรสได้เป็นพระมหาอุปราช (พระมหาอุปราช คือ ตำแหน่งรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์)

แม่หยัว คือใคร?
แม่หยัว คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ในประวัติศาสตร์บันทึกถึงแม่หยัวเพียงพระองค์เดียวคือ “แม่หยัวศรีสุดาจันทร์” มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือพระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ ได้รับการยกย่องเป็นแม่หยัวเมือง
โดยพระยอดฟ้าได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อโยธยา เมื่อพระชนมายุ 11 พรรษา แม่หยัวศรีสุดาจันทร์จึงได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ เรียกกันว่า “นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์”

หลักฐานที่บันทึกเรื่อง “ท้าวศรีสุดาจันทร์

พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
"..ถึงวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นเหตุ จึงขุนชินราชได้ราชสมบัติ 42 วัน แลขุนชินราชแลแม่หญ้วศรีสุดาจันทร์เป็นเหตุ.."

บันทึกการเดินทางของชาวโปรตุเก เฟอร์ดินานด์ เมนเดซ ปินโต
"...ท้าวศรีสุดาจันทร์ ผู้เป็นพระราชินีของพระไชยราชา เป็นชู้กับออกขุนชินราชจนมีครรภ์ ในระหว่างที่พระไซยราชาไปรบเชียงใหม่ พระนางกลัวว่าพระไชยราชาจะทรงทราบ จึงวางยาพิษพระสวามี จนเสด็จสวรรคต เมื่อพระราชโอรสขึ้นครองบัลลังก์พระนางก็เป็นผู้สำเร็จราชการจนพระนางคลอดพระโอรส จึงอภิเษกสมรสกับออกขุนชินราช พระนางวางยาพระราชโอรสที่ครองบัลลังก์ แล้วตั้งให้ออกขุนชินราชครองบัลลังก์แทน ต่อมาทั้งสองคนก็ถูกออกญาพิษณุโลกสังหาร..."

อยุธยามาจากไหน?
อยุธยา หรือ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เกิดจากการรวมตัวกันของ 2 รัฐบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ รัฐสุพรรณภูมิทางฝั่งตะวันตกและรัฐละโว้ทางฝั่งตะวันออก ทั้ง 2 รัฐต่างสืบทอดความเจริญรุ่งเรืองมานับพันปีจนร่วมกันสถาปนา “อยุธยา” ขึ้นในปี พ.ศ. 1893

อโยธยา กับ อยุธยา เป็นเมืองเดียวกันหรือไม่?
แต่เดิมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองอโยธยา (อโยธยาศรีรามเทพนคร) ที่สืบทอดวัฒนธรรมมาจากละโว้ เจริญรุ่งเรืองอยู่ แต่ต่อมาเกิดโรคระบาด กษัตริย์รัฐละโว้-อโยธยา จึงร่วมมือกับกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ สถาปนาเมืองใหม่ขึ้นชื่อว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” โดยกษัตริย์เชื้อสายละโว้-อโยธยา พระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1” เป็นผู้ครองเมือง
ดังนั้น อโยธยาศรีรามเทพนคร (อโยธยา) เป็นเมืองเดิมตั้งมาก่อนการสถาปนา กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา (อยุธยา) ซึ่งเป็นเมืองที่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง สร้างขึ้นใหม่

สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่งอยุธยา ครองราชย์ 12 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2077-2089 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความเข้มแข็ง เชี่ยวชาญด้านการปกครองและการสงคราม ด้านการปกครอง ทรงสืบทอดและจัดการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจจากหัวเมืองสู่ศูนย์กลางได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในด้านการสงคราม ทรงรับเทคโนโลยีอาวุธปืนและการสร้างป้อมปราการมาจากโปรตุเกส พัฒนากองทัพอย่างเข้มแข็ง ยกทัพไปทำสงครามกับเชียงใหม่ได้ชัยชนะ นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศด้วย พระไชยราชามีพระสนมเอกนามว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ มีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ พระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์

การปกครอง
ทรงจัดการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจจากหัวเมืองสู่ศูนย์กลางได้อย่างเบ็ดเสร็จ
การสงคราม
ทรงรับเทคโนโลยีอาวุธปืน และการสร้างป้อมปราการมาจากโปรตุเกส พัฒนากองทัพอย่างเข้มแข็ง มีโปรตุเกสเข้ามาเป็น ทหารอาสา หรือทหารรักษาพระองค์
การค้า
เป็นสมัยที่การค้ากับหัวเมืองตะวันตกเริ่มเฟื่องฟู มีการขุดคลองลัดบางกอก ซึ่งปัจจุบันคือ แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านหน้ามหาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์






































ที่มา : MgrOnline