Review : Apple Watch รุ่นที่ 10 ปรับไม่เยอะ แต่ใส่สบายขึ้น

เผยแพร่ : 17 ต.ค. 2567 14:29:08
X
• Apple Watch รุ่นที่ 10 ครบรอบ 10 ปี
• ยังคงคอนเซปต์ปรับปรุงเล็กน้อย เพื่อความสมบูรณ์แบบ
• เน้นความเป็นอุปกรณ์เสริม (accessory) มากกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

หลายคนอาจคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันที่ Apple Watch ออกสู่ตลาดครบ 10 ปี แต่กลายเป็นว่า Apple Watch รุ่นที่ 10 ยังคงคอนเซปต์ในการปรับนิดเปลี่ยนหน่อย เพื่อให้ตัวเครื่องมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ภายใต้คอนเซปต์สำคัญคือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตรวจวัดสุขภาพ และช่วยชีวิตในยามที่จำเป็นต้องใช้งาน

จุดเด่นของ Apple Watch รุ่นที่ 10 ที่มีการปรับปรุงมากที่สุดคือการลดขนาดของตัวเรือนลงราว 10% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า และให้หน้าปัดที่ใหญ่ขึ้นจากขอบจอที่บางลง ทำให้ในปีนี้มีตัวเลือกเป็นขนาด 42 มม. และ 46 มม. พร้อมสีใหม่อย่างสีดำ Jet Black ในรุ่นที่เป็นวัสดุอะลูมิเนียม พร้อมนำตัวเรือนไทเนเนียมมาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติมแทนสแตนเลสสตีล ในราคาเริ่มต้น 14,900 บาท


ปรับดีไซน์ จอใหญ่ขึ้น

ถ้ามองย้อนกลับไปถึงการเปลี่ยนแปลงของ Apple Watch ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ครั้งสำคัญในทุกๆ 3 ปี ถ้าไม่นับกับ Apple Watch รุ่นแรก ที่เราจะได้เห็นขนาดหน้าจอเริ่มต้นตั้งแต่ 38/42 มม. 40/44 มม. 41/45 มม. และล่าสุด 42/46 มม. ในซีรีส์ของ Watch 1, Watch 4, Watch 7 และ Watch 10 ตามลำดับ

นอกจากตัวเรือนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว อีกส่วนก็คือการปรับให้มีความบางลง และสวมใส่ได้เบาสบายข้อมือมากขึ้น บนเป้าหมายที่จะให้ผู้ใช้สวมใส่ตลอดเวลาทั้งช่วงเวลากลาง และระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน เพื่อให้ดึงประสิทธิภาพของ Apple Watch ออกมาใช้งานได้คุ้มค่ามากที่สุด

Apple Watch รุ่นที่ 10 จะมีความบางอยู่ที่ 9.7 มิลลิเมตร ทั้งในขนาดตัวเรือน 42 มม. และ 46 มม. พร้อมกับปรับขนาดของเม็ดมะยมให้เล็กลงราว 1 มม. และไม่มีการทำลายเส้นสีแดงในเม็ดมะยมสำหรับรุ่น Cellular แล้วด้วย โดยน้ำหนักของรุ่นอะลูมิเนียมจะอยู่ที่ 29.3 และ 35.3 กรัม ส่วนในตัวเรือนไทเทเนียมจะอยู่ที่ 34.4 และ 41.7 กรัม ตามขนาดของหน้าจอ

พร้อมกันนี้ Apple ยังได้ปรับดีไซน์ตัวเรือนให้มีความโค้งมนมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการคราฟตัวเรือนให้เรียบเนียนมากขึ้น ถ้าสังเกตจะเห็นว่าในตัวเรือนรุ่น Cellular จะมีเส้นขอบเพื่อรับสัญญาณรอบตัวเรือนด้านใน ขณะที่ในรุ่น GPS ปกติ จะไม่มีแถบเส้นนี้ และกลายเป็นตัวเรือนผืนเดียวกันทั้งหมด

การที่จอแสดงผลใหญ่ขึ้น เมื่อรวมกับเทคโนโลยีหน้าจอ OLED ที่มองในมุมกว้างได้มากขึ้น (Wide-andle OLED) รวมถึงการเลือกใช้ Always-On Retina LTPO ทำให้การแสดงผลของหน้าขอลดอัตราการแสดงผล (Refresh Rate) ลงมาได้ต่ำที่ 1 Hz และความสว่างต่ำสุด 1 nits ทำให้เวลาที่อยู่ในหน้าจอสแตนบายสามารถเหลือบมองข้อมือได้ในองศาที่เอียงมากขึ้น และยังแสดงผลเข็มวินาทีในหน้าปัดนาฬิกาแบบใหม่ด้วย

สำหรับวัสดุของกระจกที่ใช้งานในรุ่นอะลูมิเนียมจะเป็น Ion-X ขณะที่ในรุ่นไทเทเนียมจะมีการอัปเกรดเป็นกระจกแซฟไฟร์ที่แข็งแรงกว่า ส่วนความสว่างหน้าจอสูงสุดจะอยู่ที่ 2000 nits เพื่อให้ใช้งานกลางแจ้งได้ชัดเจน

ส่วนตัวเลือกของสีตัวเรือนในรุ่นอะลูมิเนียม ปีนี้จะเพิ่มสีดำ Jet Black เข้ามา ตามด้วยสีทอง Rose Gold และสีเงิน Silver ที่เป็นสีมาตรฐาน ขณะที่ในรุ่นไทเทเนียมจะมีสีอย่างไทเทเนียมธรรมชาติ ไทเทเนียมทอง และไทเทเนียมเงิน มาให้เลือกใช้งาน


แบตเตอรี ไม่ได้อึดขึ้น แต่ชาร์จเร็ว

คำถามที่หลายคนสนใจคือ Apple Watch จะใส่ใช้งานได้นานขึ้น โดยไม่ต้องชาร์จ เหมือนกับคู่แข่งในตลาดสมาร์ทวอทช์แบรนด์อื่นๆ ที่ใช้งานได้ยาวๆ 1-2 สัปดาห์ หรือไม่ คำตอบก็คือไม่! เพราะผู้ใช้งาน Apple Watch รุ่นที่ 10 ยังคงต้องชาร์จแบตเตอรีทุกวันเช่นเดิม เพื่อให้เพียงพอกับการใช้งานทั้งช่วงกลางวัน และกลางคืน

เพียงแต่ในรุ่นนี้จะมีการปรับปรุงให้ชาร์จได้เร็วขึ้น โดยสามารถชาร์จแบตฯ ได้ 80% ในเวลา 30 นาที เมื่อเทียบกับ Watch รุ่นที่ 9 จะชาร์จได้ 80% ในเวลา 45 นาที ความต่างของเวลาชาร์จที่เร็วขึ้นนี้ ก็เพียงพอให้สามารถถอดชาร์จระหว่างอาบน้ำตอนเช้า และเย็น เพื่อให้ใส่ Apple Watch 10 ใช้งานได้ทั้งวันแล้ว

เหตุผลสำคัญที่ Apple เน้นย้ำให้ผู้ใช้ใส่ใช้งานตลอดเวลา ก็เพื่อให้สามารถตรวจวัดสุขภาพได้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเวลากลางวันที่ใส่เพื่อรับการแจ้งเตือน ตรวจจับการออกกำลังกายต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของสมาร์ทวอทช์ แต่ยังรวมถึงการใส่นอนเพื่อตรวจวัดข้อมูลสุขภาพระหว่างหลับ เพราะข้อมูลการนอนจะนำมาคำนวนถึงการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพได้

หนึ่งในแอปฯ ที่อัปเดตเพิ่มขึ้นมาใน watchOS 11 คือ Vitals ที่ Apple Watch จะคอยเก็บข้อมูลการนอนและเปรียบเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งในการคำนวนนี้ผู้ใช้จำเป็นต้องใส่ Apple Watch นอนไม่ต่ำกว่า 7 วันเพื่อเป็นค่ามาตรฐาน โดยจะนำข้อมูลอย่างอุณหภูมิ อัตรการเต้นของหัวใจ ต่างๆ มาคำนวนเพื่อคาดการณ์สุขภาพล่วงหน้า อย่างเช่นผู้สวมใส่มีโอกาสที่จะเป็นไข้หวัดจากอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น หรือการวัดรอบประจำเดือนของผู้หญิงที่ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น

ภายใน watchOS 11 ยังมีแอปฯ เพิ่มเติมที่น่าสนใจอย่าง ความหนักเบาในการฝึก หรือ Training load เพื่อให้ผู้ใช้เว้นระยะในการออกกำลังเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว หรือการปรับแต่งวงแหวนกิจกรรม ในวันที่มีเหตุจำเป็น ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

มีแอปฯ ใหม่อย่าง Tides ไว้ดูยากรณ์น้ำขึ้นน้ำลง เพิ่มประเภทการออกกำลังกายเพิ่มเติมบนแอพ Workout: ฟุตบอล, อเมริกันฟุตบอล, ฟุตบอลออสเตรเลีย, ฮอกกี้กลางแจ้ง, ลาครอส, สกีลงเขา, สกีครอสคันทรี, สโนว์บอร์ด, กอล์ฟ, พายเรือกลางแจ้ง รวมถึงแอปฯ แปลภาษา ที่ใน Watch 10 และ Ultra 2 จะสามารถดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้เพื่อใช้งานแบบออฟไลน์ได้ด้วย

ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นใน Watch รุ่นที่ 10


หนึ่งในอัปเดตที่น่าสนใจใน Watch 10 ที่ทำให้ใช้งานได้ดีกว่า Ultra 2 ก็คือเพิ่มเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำ (Water Temperature) มาให้ใช้งาน พร้อมกับแอปฯ วัดระดับความลึก (Depth app) เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่ Apple Watch ได้รู้ระดับความลึกของน้ำเวลาใส่ว่ายน้ำ หรือดำน้ำตื้น

เพียงแต่ข้อจำกัดของ Watch 10 คือดำน้ำได้ลึกสุดที่ 6 เมตร ในลักษณะของ Free Driving มากกว่า ยังไม่ได้เหมาะกับใช้ดำน้ำลึกเหมือนใน Watch Ultra 2 ที่ทนน้ำลึกได้ถึง 40 เมตร แม้ว่าตัวเรือนจะรองรับมาตรฐานกันน้ำระดับ WR50 หรือใส่ว่ายน้ำได้ลึกไม่เกิน 50 เมตรก็ตาม

ที่เหลือก็จะเป็นการปรับปรุงในส่วนของชิปประมวลผลที่รอบนี้ อัปเดตมาเป็น Apple A10 SiP เพื่อรองรับการประมวลผล AI ให้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ในการแสดงผลของ Smart Stack ที่ฉลาดมากขึ้น คอยแนะนำการ์ดหรือแถบข้อมูลที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งาน อย่างเช่นเวลาเดินทางต่างประเทศก็จะมีการแสดงผลแถบการแปลภาษาเพิ่มเข้ามา

นอกจากนี้ก็คือการอัปเดตไมโครโฟน ให้ช่วยตัดเสียงรบกวน ทำให้เวลาที่ไม่สามารถหยิบ iPhone ขึ้นมาเพื่อรับโทรศัพท์ สามารถคุยผ่าน Apple Watch ได้ชัดเจนมากขึ้น และยังเปิดให้สามารถเล่นเพลงผ่าน ลำโพงของ Apple Watch ได้เป็นครั้งแรกในรุ่นนี้ แต่จำกัดอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ 1-2 เพลง (ข้อจำกัดของแบตฯ) ซึ่งรองรับทั้ง Apple Music Podcasts และ Books รวมถึงแอปฯ เล่นเพลงจากนักพัฒนาอื่นๆ


สรุป

การอัปเดตของ Apple Watch รุ่นที่ 10 ในรอบนี้ จะเหมาะกับผู้ที่ใช้งาน Apple Watch รุ่นต่ำกว่า Watch 6 เป็นหลัก เพราะถ้าอัปเกรดมาใช้งาน จะได้ทั้งหน้าปัดที่ใหญ่ขึ้น ชาร์จแบตฯ ได้เร็วขึ้นชัดเจน แต่ถ้าใช้งาน Watch ในรุ่น 7-9 อาจจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากนัก

โดยราคาของ Apple Watch รุ่นที่ 10 ในตัวเรือน 42 มม. เริ่มต้นที่ 14,900 บาท และ 46 มม. 15,900 บาท ส่วนรุ่น Cellular จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18,900 บาท และ 19,900 บาท ในตัวเรือนอะลูมิเนียม ส่วนตัวเรือนไทเทเนียมมาในรุ่น Cellular ราคาเริ่มต้นที่ 25,900 บาท

ที่มา : MgrOnline