กนง.หั่นดบ.ลง0.25%โบรกฯอสังหาฯ”ชี้คลายกดดัน แต่ไม่ช่วยลดรีเจ็กต์เรต

เผยแพร่ : 16 ต.ค. 2567 16:01:55
X
• กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เหลือ 2.25%
• มติ 5 ต่อ 2 เสียง
• เหตุผล: เศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้
• ผลกระทบต่ออสังหาฯ:
• ลดภาระดอกเบี้ยผู้ซื้อบ้าน
• คลายความกดดันบริษัทอสังหาฯ
• ไม่ช่วยเพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อ
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล
กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% หลังแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ด้านโบรกฯอสังหาฯ ชี้ลดดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยคลายความกดดันผู้ซื้อ-บริษัทอสังหาฯ แต่ไม่ช่วยเพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยอย่างที่คิด เหตุแบงก์ยังคุมเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อบ้าน เพราะยังกังวลหนีสินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)กล่าวว่า เมื่อวันนที่ 16 ต.ค. 67 คณะกรรมการ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 67 ด้านกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงเห็นว่าจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ

ขณะที่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.7 ส่วนปี 68 อยู่ที่ 2.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้นตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึงเอสเอ็มอี ยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 68 อยู่ที่ 1.2% โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ผันผวน และอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากผลของฐาน ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 68 จะอยู่ที่ 0.9 โดยอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ การแข่งขันด้านราคาที่อยู่ในระดับสูงจากสินค้านำเข้า โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 67

ทั้งนี้ ภาวะการเงินโดยรวมที่ตึงตัวขึ้นบ้างจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและปัจจัยเฉพาะในประเทศ ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม สินเชื่อโดยรวมชะลอลงโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต ด้านคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีและครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง คณะกรรมการยังสนับสนุนนโยบายของ ธปท.ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาภาระหนี้ที่ตรงจุดและมีส่วนช่วยกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้

“ต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืมและการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่ต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว ” นายสักกะภพกล่าว
สุรเชษฐ กองชีพ
ลดดบ.0.25%คลายกดดันผู้ซื้อ-อสังหา

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด กล่าวว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง0.25% ถือว่าเป็นการช่วยลดแรงกดดันจากดอกเบี้ย ให้ฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ขณะเดียวกันก็ลดแรงกดดันให้กับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยไปด้วย อย่างไรก็ตาม การลดแรงกดดัน จากการปรับลดดอกเบี้ยนั้นอาจช่วยผู้บริโภคที่ต้องผ่อนค่างวดบ้านได้ไม่มากนักเนื่องจากการลดดอกเบี้ย 0.25% ไม่ได้มีผลกับการลดค่างวดได้มากนักโดยสามารถช่วยลดดอกเบี้ยค่างวดบ้านได้ล้านละ 2,500 บาท

สำหรับการลดดอกเบี้ย นโยบายลง0.25% ของ กนง. แม้จะเป็นการลดแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยแต่เชื่อว่าในระยะสั้นจะยังส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในทันทีเนื่องจากต้องรอดูว่าธนาคารพาณิชย์จะรับลูกปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมากแค่ไหน โดยส่วนตัวแล้วชื่อว่าธนาคารพาณิชย์คงไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงพร้อมกันทั้งหมดหรือหากมีการปรับลงอาจจะเป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งก็ไม่สามารถชดเชยในส่วนที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาได้เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้สถาบันการเงินมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเกือบ 2%

“ปัญหาที่สำคัญคือ แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงแต่แบงค์ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยอยู่ ซึ่งจะทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้ลดลงหรือยังคงอยู่ในระดับเดิม เนื่องจากแบงค์ยังคงกังวลเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้จึงช่วยในเรื่องของคลายความกดดันเท่านั้นแต่ไม่ได้ช่วยในเรื่องของโอกาสหรืออัตราการอนุมัติสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นมากนัก” นายสุรเชษฐ กล่าว.

ที่มา : MgrOnline