ชาวสวนลำไยเชียงใหม่สุดช้ำถูกน้ำท่วมนานนับเดือนถึงขั้นยืนต้นตาย คาดเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่ทำผลผลิตลด 4.5 หมื่นตัน

เผยแพร่ : 16 ต.ค. 2567 10:49:11
X
• ชาวสวนลำไยเชียงใหม่ได้รับความเดือดร้อนหนักจากน้ำท่วมขังนานนับเดือน
• ใบลำไยเริ่มเหี่ยวเฉา
• บางต้นจมน้ำตาย
• เกษตรจังหวัดเชียงใหม่กำลังเร่งสำรวจความเสียหาย
• สวนลำไยที่ถูกน้ำท่วมเบื้องต้นกว่า 2 หมื่นไร่

เชียงใหม่ - ชาวสวนลำไยเชียงใหม่ช้ำหนักถูกน้ำท่วมขังนานนับเดือนจนใบเริ่มเหี่ยวเฉา ขณะที่บางต้นโดนท่วมจมมิดจนยืนต้นตาย ขณะที่เกษตรจังหวัดเชียงใหม่เร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือเยียวยา เผยเบื้องต้นสวนลำไยถูกน้ำท่วมกว่า 2 หมื่นไร่ เฉพาะที่ถูกน้ำท่วมนานเป็นเดือนมีกว่า 6,000 ไร่ คาดส่งผลกระทบทำให้ผลผลิตลดลง 4.5 หมื่นตัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้พื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนลำไยของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสันป่าตองที่ติดกับแม่น้ำปิง และเป็นที่ราบลุ่มได้รับผลกระทบด้วย อย่างเช่นที่สวนลำไยของนายกิตติ์นิพัทธ์ สุนันตะ เกษตรกรชาวสวนลำไย บ้านแม่ข่องใต้ ต.แม่ก๊า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่เพิ่งตกแต่งกิ่งเตรียมลำต้นเพื่อทำลำไยนอกฤดูช่วงปลายปีนี้ ที่ถูกมวลน้ำจากอำเภอหางดงไหลหลากเข้าท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ต้นลำไยที่มีอายุ 4-8 ปี พื้นที่กว่า 7 ไร่ รวมกว่า 150 ต้นถูกน้ำท่วมจมไปกับน้ำนานนับเดือน จนใบเริ่มเหี่ยวเฉา บางต้นถึงกับยืนต้นตาย

นายกิตติ์นิพัทธ์เปิดเผยว่า เกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่บ้านแม่ข่องเหนือ บ้านแม่ข่องกลาง และบ้านแม่ข่องใต้ ต.แม่ก๊า อ.สันป่าตอง มีพื้นที่ปลูกลำไยถูกน้ำท่วมกว่า 500 ไร่ ส่วนใหญ่จะถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมาและระดับน้ำได้ลดลงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นใบลำไยเริ่มเหี่ยวเฉา ซึ่งขณะนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้แต่สังเกตการณ์ หากลำไยยืนต้นตายคงต้องตัดทิ้งทันที อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ตนเพิ่งจ้างคนงานมาทำการตกแต่งกิ่งลำไย และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นลำไยหมดเงินไปกว่า 2 หมื่นบาท เพื่อเตรียมความพร้อมของต้นลำไยในการทำลำไยนอกฤดู แต่ก็มาถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายทั้งหมด

นอกจากนี้ นายกิตติ์นิพัทธ์บอกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินร่วม 3 แสนบาทมาลงทุนในการเพาะปลูกลำไย และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 ปีก็ถูกน้ำท่วมอีกและไม่รู้ว่าต้นลำไยที่ถูกน้ำท่วมจะตาย-รอดกี่ต้น จึงอยากขอให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องเงินชดเชยเยียวยา และสนับสนุนต้นกล้าลำไยให้เกษตรกร นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการพักชำระหนี้ และขอแหล่งเงินทุนในการลงทุนใหม่

ขณะที่ นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อม นางมัฑนา ธรรมใจ เกษตรอำเภอสารภี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสารภี ลงพื้นที่บ้านปิงน้อง ต.สันทราย อ.สารภี เพื่อสำรวจความเสียหายพื้นที่เพาะปลูกลำไยในพื้นที่หลังจากที่พื้นที่ปลูกลำไยในพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำท่วมขังยาวนานเกือบ 2 เดือนล่าสุดยังมีน้ำท่วมขังตามสวนลำไยอยู่ โดยเกษตรจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่เพาะปลูกลำไยมากที่สุดของประเทศ 448,000 ไร่ ประสบอุทกภัย 22 อำเภอ 151 ตำบล 859 หมู่บ้าน ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกลำไยถูกน้ำท่วมประมาณ 19,581 ไร่

ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมมากกว่า 1 เดือน ประมาณ 6,000 ไร่ ซึ่งในกรณีนี้จะทำให้ต้นลำไยเริ่มโศก ทิ้งใบและยืนต้นตายในที่สุด เนื่องจากว่าโดนน้ำขังเป็นระยะเวลานานและไม่มีออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงลำต้น ในส่วนความช่วยเหลือนั้น ขณะนี้เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือ 4,048 บาท/ไร่ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ จากเดิมเจ้าหน้าที่จะให้ความช่วยเหลือหลังจากนี้ 90 วัน ได้มีการลดขั้นตอนการพิจารณาเหลือ 65 วัน ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือโดยผ่านคณะกรรมการระดับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยเกษตรกรจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนผลกระทบด้านผลผลิตลำไยในปีหน้าจากการที่เกิดปัญหาน้ำท่วมคาดว่าผลผลิตลำไยในฤดูจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 45,000 ตัน

ส่วนการฟื้นฟูต้นลำไย หลังน้ำลดให้ตัดแต่งกิ่งที่เสียหายแล้วเอาไม้ค้ำยันไว้ให้ตั้งตรง ในช่วง 5 วันแรกไม่ควรรดน้ำหรือให้ปุ๋ยยาต่างๆ และไม่เหยียบย่ำบริเวณราก เมื่อต้นไม้เริ่มฟื้นตัวแล้วจึงให้น้ำแต่น้อยๆ แล้วควรให้ปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของรากและปรับปรุงดินด้วยไตรโครเดอร์มาปรับปรุงสภาพดิน ในอัตราเชื้อราไตรโคเดอร์มาสด 1 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม ปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัมใช้รองก้นหลุม หว่าน หรือโรยรอบบริเวณโคน ไม้ผลหรือไม้ยืนต้นใช้ 3-5 กิโลกรัมต่อต้น หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ/สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0-5311-2478-79





ที่มา : MgrOnline